วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การลงทุนแบบเสี่ยงๆ

มีเกมการลงทุนอยู่เกมหนึ่ง เกมนี้ประกอบไปด้วยกล่องอยู่ 2 ใบ ในกล่องแต่ละใบนี้จะมีไข่พลาสติกวางไว้ในกล่อง กล่องละ 4 ฟอง ซึ่งเรารู้สิ่งที่อยู่ภายในกล่องว่า

กล่องใบแรกนั้น มีเงินอยู่ในไข่ฟองละ 120 บาทเท่ากันหมดทุกฟอง (รวมมีเงินอยู่ในกล่อง 480 บาท)
ส่วนกล่องใบที่สองนั้นมีเงินฟองละ 200 บาทอยู่ในไข่ 3 ฟอง ส่วนฟองที่สี่นั้นว่างเปล่า (รวมมีเงินในกล่อง 600 บาท)

เงื่อนไขของเกมนี้คือ
1. ก่อนการเล่นแต่ละครั้งกล่องแต่ละใบจะมีไข่ครบ 4 ฟองเสมอ ถ้ามีการจับออกไปก็จะเอาไข่มาเติมใหม่ให้อยู่ในสภาพเดิม 2. คนที่เล่นเกมจะมีเงินเริ่มต้น 400 บาทเท่ากันหมด ถ้าเงินหมดแล้วจะหมดสิทธิ์เล่นเกมตลอดชีวิต
3. การเข้ามาเล่นเกมแต่ละครั้งจะต้องจ่ายเงิน 100 บาทต่อการจับไข่ขึ้นมา 1 ครั้ง
4. สามารถเล่นเกมได้ปีละครั้งเท่านั้น โดยสามารถเล่นได้ทุกปีตลอดชีวิตตราบที่ยังมีเงินจ่ายไม่น้อยกว่า 100 บาท
5. เราสามารถเพิ่มเดิมพันเกมโดยจ่ายมากกว่า 100 บาทได้ โดยเงินในไข่ก็จะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน เช่นถ้าเราจ่าย 200 บาทต่อการจับไข่ 1 ครั้ง เงินในไข่ของกล่องแรกจะเป็นฟองละ 240 บาท และกล่องที่สองจะเป็นฟองละ 400 บาท

ถ้าเราพูดถึงตามความน่าจะเป็นแล้วเราจะพบว่าถ้าเราจับไข่ 4 ครั้งโดยจ่ายเงินครั้งละ 100 บาททุกครั้ง ในกล่องแรกเราก็น่าจะได้เงินกลับมา 480 บาท (ผลตอบแทนรวม 20%) แต่ถ้าเราเลือกจับไข่ในกล่องใบที่สองแล้ว เราก็น่าจะได้เงินมารวม 600 บาท (ผลตอบแทนรวม 50%) ซึ่งดูยังไงกล่องใบที่สองก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

แต่ถ้ามองในแง่ความเสี่ยงแล้วเราจะพบกว่ากล่องใบแรกถึงแม้ผลตอบแทนจะต่ำกว่าแต่ไม่มีทางขาดทุนเลย แต่กล่องใบที่สองเรารู้อยู่ว่ามีความเสี่ยง ถึงแม้จะเสี่ยงน้อยก็ตามแต่ถ้าพลาดไปก็เท่ากับเงินหายไปเลย

จากประสบการณ์ในตลาดหุ้นมาประมาณ 10 ปี เท่าที่สังเกตุผู้คนรอบข้างที่เล่นหุ้น ตั้งแต่เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง และลูกค้าในห้องค้าสมัยที่ผมยังทำงานเป็นมาร์เก็ตติ้ง จนถึงวันนี้ ผมพบว่าคนส่วนใหญ่นั้นมักจะชอบซื้อหุ้นที่คิดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงๆในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งๆที่รู้ว่าหุ้นเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วมีความเสี่ยงบางอย่างที่ซ่อนไว้อยู่ แต่ด้วยคิดว่าโอกาสพลาดนั้นมีน้อย หลายๆคนจึงชะล่าใจเลือกที่จะยอมปิดตาข้างนึงเสี่ยงลงทุน

ความเสี่ยงที่ผมพูดถึงนั้นเป็นความเสี่ยงอย่างรุนแรงในทางธุรกิจที่บริษัทหลายๆบริษัทมีอยู่ แต่บางคนก็ยังพยายามหลอกตัวเองว่าไม่เสี่ยงเพราะโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หรือคิดว่าถ้าจะเกิดขึ้นจริงคงจะไหวตัวทันขายออกมาได้ก่อน ทั้งๆที่ในหลายๆครั้งเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และความเสี่ยงเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นจริงๆแล้วอาจจะส่งผลต่อพอร์ตลงทุนของเราอย่างมาก เช่นความเสี่ยงว่าจะมีสงครามราคาเกิดขึ้น ความเสี่ยงว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ดีกว่ามาทดแทน ความเสี่ยงว่าราคาวัตถุดิบจะแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงอื่นๆอีกมากมาย

คนจำนวนมากเลือกที่จะลองเสี่ยงดู คงจะคล้ายๆกับการซื้อล็อตตารี่ หรือหวย หรือเล่นการพนันอื่นๆที่โอกาสชนะนั้นมีน้อย และทั้งๆที่รู้ว่ามีน้อย คนจำนวนมากก็ยังเต็มใจที่จะเสี่ยงอยู่ดี และผลสรุปก็คือ คนส่วนใหญ่จะขาดทุน คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะกำไร ซึ่งคนที่กำไรนั้นผมสังเกตพบว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะเน้นการลงทุนอย่างปลอดภัย คือจะไม่เข้าไปยุ่งกับหุ้นที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงมากแต่มีความไม่แน่นอนทางธุรกิจบางอย่างอยู่ที่จะทำให้สิ่งที่เราหวังนั้นไม่เป็นจริง

กลับมาที่เรื่องการจับไข่ คนจำนวนมากซึ่งชอบเสี่ยงดวง หรือชอบการเก็งกำไรคงจะเลือกจับไข่จากกล่องที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนวณความน่าจะเป็นแล้วกล่องที่สองให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหากเขาโชคดีใน 3 ครั้งแรกเขาจับได้เงินตลอด คือปีแรกเขาเสี่ยงทุ่มหมดตัวเลยคือจ่าย 400 บาท และจับได้ไข่มาเป็นเงิน 800 บาท ในปีที่สองเขาก็จับไข่ถูกอีก และยังทุ่มสุดตัวเหมือนเดิม คือจ่าย 800 บาท แล้วได้เงินในไข่มา 1600 บาท เมื่อถึงปีที่ 3 เขาก็ยังคงโชคดีอยู่และทำให้เงินเพิ่มขึ้มาเป็น 3200 บาท แต่พอมาถึงปีที่ 4 เขาทุ่มจ่าย 3200 บาทไป และต้องพบกับความผิดหวังคือหมดตัว และไม่มีโอกาสได้แก้ตัวไปตลอดชีวิต ซึ่งเราจะพบว่าในชีวิตจริงมีคนที่เข้าข่ายนี้จำนวนมาก คือทุ่มไปกับหุ้นที่เขาไม่รู้จริง หรือบางคนรู้จริงว่ามีความเสี่ยงแต่ก็ยังเสี่ยงทุ่มหมดตัว เมื่อเขาใช้วิธีนี้ไปเรื่อยๆ ในช่วงแรกอาจจะรวยเร็ว แต่ในที่สุดก็จะสูญเสียไปเร็วเช่นกัน

แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงมากขึ้นหน่อยแต่ก็ยังยึดติดกับตัวเลขที่ว่ากล่องใบที่สองมีโอกาสให้ผลตอบแทนงามกว่า ดังนั้นเขายังคงลงทุนในกล่องใบที่ 2 อยู่ แต่ลงทุนด้วยความระมัดระวังขึ้นคือด้วยเงินที่มีอยู่เขาจะไม่ลงไปทีเดียวทั้งหมด 400 บาท แต่เขาลงทุนไปเพียงครั้งละ 100 บาทเท่านั้น ดังนั้นเมื่อลงทุนครบ 4 ปีเขาจะได้ผลตอบแทนตามความน่าจะเป็นแล้วคือ 600 บาท (หยิบได้ไข่ที่มีเงิน 3 ฟอง และได้ไข่ว่างเปล่า 1 ฟอง) การลงทุนลักษณะนี้ก็ถือว่าให้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร

แต่กลุ่มสุดท้ายเขาไม่สนใจผลตอบแทนที่สูงของกล่องใบที่สอง แต่เขาเลือกจะลงทุนในกล่องในแรกที่เขามั่นใจ 100% ว่าในแต่ละครั้งจะไม่มีทางขาดทุนแต่จะได้ผลตอบแทน 20% ดังนั้นคนกลุ่มนี้จะกล้าทุ่มหมดตัวคือ ในปีแรกยอมจ่าย 400 บาท และได้ผลตอบแทนมาเป็น 480 บาท พอปีที่สองเขาก็จะทุ่มหมดตัวเช่นกันคือยอมจ่าย 480 บาท และได้เงินกลับมาเป็น 576 บาท พอถึงปีที่สาม เขาก็จ่ายหมดเลยคือ 576 บาท และได้เงินกลับมาจำนวน 691.2 บาท และพอถึงปีที่สี่ เขาก็จะมีเงิน 829.44 บาท และนั่นทำให้คนกลุ่มนี้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุดเมื่อผ่านไป 4 ปี

การเล่นเกมนี้ก็เหมือนกับการลงทุนในชีวิตจริง ในแต่ละปีเราจะได้ยินว่าคนนั้นได้กำไร 2 เด้งบ้าง 5 เด้งบ้าง 10 เด้งบ้าง แต่ในระยะยาวแล้วคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นมักจะเป็นคนที่กำไรในแต่ละปีไม่ได้เยอะเลย วอร์เรน บัฟเฟตต์เองก็ไม่เคยกำไรเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อปี เพราะนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่เลือกที่จะทุ่มหมดหน้าตักกับหุ้นที่เขามั่นใจว่าไว้ใจได้ ค่อยๆเติบโตอย่างมั่นคงมากกว่าที่จะไปเสี่ยงลงทุนกับหุ้นที่อาจจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงแต่ไม่สามารถมั่นใจได้เต็มร้อย และเป็นเหตุผลว่าทำไมเต่าจึงชนะกระต่าย