วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

นิทานบริษัทประกัน

เร็วๆนี้มีกรณีของบริษัทประกันภัยต่อที่มีการเพิ่ม ทุน คาดว่าคงเป็นผลมาจากกรณีน้ำท่วมและสร้างความเสียหายให้กับบริษัทจนอาจจะไม่ มีเงินทุนเพียงพอสำหรับเงินชดเชย ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ทุกอย่างคลุมเครือมีคนเข้ามาวิเคราะห์กันจำนวนมาก ต่างคาดการณ์กันต่างๆนานา มีคนใหม่ๆหลายๆคนกระโดดเข้าไปลงทุนเนื่องจากเห็นว่าราคาลดลงเยอะโดยที่ยัง ไม่เข้าใจความเสี่ยง หลงคิดว่า Excess of Loss Protection จะทำให้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ไม่เข้าใจหลักการของบริษัทประกันเพียงพอส่งผลให้พอร์ตลงทุนเสียหายได้ ผมเองก็ไม่ได้มีความรู้ความเชียวชาญเลย แต่คิดว่าพอจะมองภาพกว้างๆได้และอยากจะเขียนเป็นนิทานสื่อให้คนที่ยังไม่มี ความรู้เลยได้เข้าใจดังนิทานต่อไปนี้ครับ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชื่อว่าหมู่บ้าน A มีจำนวนบ้านอยู่ 1000 หลัง ในทุกๆสิ้นปีจะมีบ้านสร้างใหม่ 10 หลังและจะมีบ้านที่พังไปเนื่องจากภัยพิบัติ 10 หลังตอนสิ้นปี ดังนั้นไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนจำนวนบ้านในหมู่บ้านนี้ก็ยังคงมี 1000 หลังเท่าเดิม โดยที่บ้านแต่ละหลังนั้นมีมูลค่าเท่ากันหมดคือหลังละ 1 ล้านบาท ดังนั้นหากบ้านใครพังไปจากภัยพิบัตินั่นหมายความว่าเขาจะสูญเสียเงินไป 1 ล้านบาททันที และนั่นเป็นสิ่งที่คนในหมู่บ้านกลัวกันมาก และต้องคอยลุ้นทุกปีไม่ให้บ้านที่พังในแต่ละปีนั้นเป็นบ้านของตัวเอง

มี อยู่วันหนึ่งมีนักธุรกิจหัวใส มองเห็นว่าทุกคนในหมู่บ้านต่างกลัวบ้านจะพังและสูญเสียเงินไป 1 ล้านบาท จึงนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณและพบว่า อัตราจำนวนบ้านที่พังเทียบกับบ้านทั้งหมดในหมู่บ้านนั้นอยู่ที่ 1% ต่อปี เขาจึงป่าวประกาศไปว่าเขายินดีจะจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้านที่พังจำนวนเต็ม 1 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่าบ้านที่ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้จะต้องจ่ายเงินให้เขาปีละ 2 หมื่นบาทในต้นปีเพื่อให้ได้รับการรับประกันไปตลอดทั้งปีนั้น เมื่อชาวบ้านได้ยินดังนี้ต่างดีใจว่าเขาจ่ายเงินเพียงปีละ 2 หมื่นบาทก็สามารถประกันความปลอดภัยของบ้านเขาที่มีมูลค่าถึง 1 ล้านบาทจึงแห่กันไปเข้าโครงการนี้ทั้งหมดทุกหลังในหมู่บ้าน

นอกจาก ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ ได้ความสบายใจ และมีความมั่นคงมากขึ้นแล้ว นักธุรกิจคนนี้ก็ได้ประโยชน์มากเช่นกัน คือทุกๆต้นปีเขาจะได้รับเงินจากบ้าน 1000 หลัง หลังละ 2 หมื่นบาท รวมแล้วเป็นเงิน 20 ล้านบาท หลังจากนั้นเขาก็เอาเงินนี้ไปลงทุนได้เงินผลตอบแทน 7% ต่อปี ทำให้เงินงอกเงยเป็น 21.4 ล้านบาทในปลายปีแรก และเมื่อบ้านพังไป 10 หลังในปลายปีเขาก็จะจ่ายเงินไป 10 ล้านบาท รวมแล้วเขาจะมีเงินกำไรถึง 11.4 ล้านบาท ในปีแรก และทำเช่นนี้จนมีเงินมากขึ้นทุกๆปีไป

นักธุรกิจคน เดิมนี้เริ่มต้องการขยายธุรกิจจึงไปสำรวจหมู่บ้าน B ซึ่งอยู่ข้างเคียงกัน หมู่บ้านนี้มีจำนวนบ้านอยู่ 1000 หลังเท่ากัน มีบ้านสร้างใหม่และบ้านพังปีละ 10 หลังเหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างคือ บ้านแต่ละหลังมีราคาไม่เท่ากัน คือมีบ้านราคาแพงอยู่ 100 หลังที่มีมูลค่าถึงหลังละ 10 ล้านบาท และอีก 900 หลังมีมูลค่าเพียงหลังละ 1 ล้านบาท ซึ่งหากนักธุรกิจคนนี้เก็บเงินหลังละ 2% ของราคาบ้านเหมือนหมู่บ้าน A จะทำให้ได้เงินจากบ้าน 900 หลัง หลังละ 2 หมื่นบาท และอีก 100 หลัง หลังละ 2 แสนบาท เป็นเงินรวม 18+20 = 38 ล้านบาทต่อปี

แต่นักธุรกิจคิดได้ว่าหากเก็บเงินแบบนี้อาจจะไม่ ปลอดภัยพอ เพราะหากปีไหนบ้านที่พังทั้ง 10 หลังเป็นบ้านราคาแพงที่มีมูลค่า 10 ล้านบาท จะทำให้เขาต้องจ่ายเงินถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเขาคงไม่มีเงินจ่ายชดเชยบ้านที่พัง ดังนั้นเขาจึงคิดวิธีการที่เรียกว่า Excess of Loss Protection โดยการติดต่อเพื่อนของเขาคนหนึ่งที่รวยกว่าเขามาก ชื่อนายต่อ และขอให้นายต่อช่วยรับประกันบ้านที่ราคาแพงจำนวน 10 หลังในหมู่บ้าน B ให้หน่อย แต่มีเงื่อนไขว่านายต่อจะจ่ายชดเชยให้เฉพาะส่วนที่เกินจาก 1 ล้านบาทเท่านั้น นั่นคือถ้าวันไหนบ้านเหล่านี้พังลง นักธุรกิจคนนี้จ่ายเพียง 1 ล้านบาท แต่นายต่อจ่าย 9 ล้านบาท ทั้งนี้นักธุรกิจคนนี้ยอมแบ่งเงินที่ได้รับมาจากบ้านเหล่านี้ให้นายต่อจาก เงินที่รับมาทั้งหมดหลังละ 2 แสนบาท เขาเก็บไว้เอง 2 หมื่นบาท และส่งเงินให้นายต่อ 1.8 แสนบาท นั่นเท่ากับว่านักธุรกิจคนนี้รับความรับผิดชอบไว้เพียงหลังละ 1 ล้านบาทในบ้านทุกหลังเหมือนกันกับหมู่บ้าน A

หลังจากที่ประสบความ สำเร็จจากหมู่บ้าน A และ B นักธุรกิจคนนี้จึงเดินทางไปหมู่บ้าน C หมู่บ้าน C นี้เหมือนกับหมู่บ้าน B ทุกอย่างยกเว้นเสียแต่ว่าหมู่บ้าน C นั้นจำนวนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแต่ละปีไม่แน่นอน ถึงแม้ว่าเมื่อดูข้อมูลในอดีตตลอด 100 ปีที่ผ่านมาแล้วพบว่าจำนวนบ้านพังเฉลี่ยจะอยู่ที่ 10 หลังต่อปีเท่ากับหมู่บ้าน A และ B แต่ว่าบางปีก็ไม่มีบ้านพังเลย และในปีที่บ้านพังมากที่สุดก็มีบ้านพังถึง 100 หลังซึ่งในปีนั้นมีมหันตภัยแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

นักธุรกิจ คนนี้จึงคำนวณว่าหากเกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีตที่เลวร้ายที่สุดแล้วบ้านพัง 100 หลังจริงเขาจะต้องชดเชยเป็นเงินถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเขาเก็บเงินได้แค่ปีละ 20 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเขามองว่าเป็นความเสี่ยงอันเนื่องมาจากมหันตภัย ซึ่งเขาก็รู้ว่ามหันตภัยนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นบ่อย เขาจึงเลือกที่จะขึ้นราคาจากเดิมบ้านหลังละ 1 ล้านบาทจะต้องจ่าย 2 หมื่นบาทเป็น ต้องจ่ายหลังละ 1 แสนบาท ดังนั้นในปีหนึ่งๆเขาจะเก็บเบี้ยได้ปีละ 100 ล้านบาท และในยามปกติเขาก็จะกำไรมากมายมหาศาล แต่ในปีที่เกิดมหันตภัยเขาก็ไม่น่าจะขาดทุน คิดได้ดังนี้เขาจึงป่าวประกาศไปและมีคนมาทำประกันบ้านกับเขาทุกหลังในหมู่ บ้าน C

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีนักธุรกิจคนนี้ร่ำรวยมีเงินมากกว่า 500 ล้านบาท เป็นเงินกองทุนสำหรับบริษัทประกันภัยของเขา แต่ในคืนหนึ่งเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น มีน้ำท่วมทะลักมาจากภูเขาเข้าท่วมทั้งหมู่บ้านของหมู่บ้าน C ทำให้บ้านทุกหลังพังพินาศไม่เหลือ และผู้คนต่างมาขอเงินชดเชยจากนักธุรกิจคนนี้ รวมแล้วเงินชดเชยที่ต้องจ่ายให้บ้านจำนวน 1000 หลังมีมูลค่า 1000 ล้านบท ดังนั้นเงินจึงไม่เพียงพอจ่ายและทำให้นักธุรกิจคนนี้ล้มละลาย

ธุรกิจ ประกันไม่ว่าจะประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย ล้วนแล้วแต่ใช้ข้อมูลสถิติในอดีตมาคำนวณความน่าจะเป็นเพื่อคาดการณ์แนวโน้ม และกำหนดเบี้ยประกันทั้งนั้น เบี้ยประกันนั้นได้บวกเผื่อความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ไม่คาดคิดในระดับหนึ่ง ไว้แล้วแต่ไม่ทั้งหมด ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงอย่างมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนก็จะทำให้ตัว เลขเงินสำรองทั้งหลายไม่เพียงพอในการจ่ายค่าชดเชยได้ และนี่ก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจของคนที่ลงทุนในธุรกิจนี้

คุณ มองธุรกิจประกันภัยอย่างไร ในอนาคตมีแนวโน้มที่ทรัพย์สินจะเสียหาย ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วๆไปและความเสียหายจากภัยพิบัติต่างๆมากขึ้น หรือน้อยลง แนวโน้มระยะยาวเป็นอย่างไร
คุณมองธุรกิจประกันชีวิตกันอย่าง ไร ในอนาคตข้างหน้ามีแนวโน้มที่คนจะตายกันมากขึ้นหรือน้อยลง ทั้งจากการตายปกติและจากการตายเนื่องด้วยภัยพิบัติต่างๆ แนวโน้มระยะยาวเป็นอย่างไร

ความเสี่ยงของธุรกิจประกันวินาศภัยที่จะ ล้มลงจะเกิดขึ้นเมื่อจำนวนทรัพย์สินที่เสียหายมีสัดส่วนที่มากเทียบกับจำนวน ทรัพย์สินที่รับประกันทั้งหมด (มูลค่าของทรัพย์สินเป็นเรื่องรองเพราะมีระบบ Excess of Loss Protection) ส่วนความเสี่ยงธุรกิจประกันชีวิตก็คือจำนวนคนเอากรมธรรม์ที่เสียชีวิตมีสัด ส่วนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนคนทำประกันทั้งหมด โอกาสในการเกิดเหตุไม่คาดคิดในแต่ละความเสี่ยงนั้นมากน้อยอย่างไรก็คงแล้ว แต่การประเมินของแต่ละคน ถ้าคิดว่ามีโอกาสมากก็ไม่ควรจะลงทุน แต่ถ้าคิดว่าแทบจะไม่มีโอกาสเกิดได้ก็อาจจะเลือกลงทุน หรือไปลงทุนแต่ในธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงจากมหันตภัยเลย
ซึ่งถ้ามอง จริงๆแล้วทุกธุรกิจมีความเสี่ยงทั้งนั้น ถ้าไม่ใช่จากมหันตภัยก็จากอย่างอื่น เช่นจากอัตราแลกเปลี่ยน จากราคาวัตถุดิบ และอื่นๆ เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ถ้าเรามองว่ามากก็ไม่ต้องลงทุน ถ้าเรามองว่าน้อยก็ลงทุนไป

ถ้าคุณลงทุนในบริษัทประกันโดยที่ยังไม่รู้ว่ามีความเสี่ยงเหล่านี้อยู่แสดงว่าคุณกำลังเข้าสู่สนามรบที่คุณมองไม่เห็นตัวศัตรู