วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สรุปผลงานปี 58 ครบรอบ 7 ปี การลงทุนแบบเน้นคุณค่า

นับตั้งแต่เริ่มเข้าตลาดหุ้นมาในปี 2002 ถึงวันนี้ก็เป็นระยะเวลา 14 ปีแล้ว ใน 7 ปีแรกนั้นถือว่าเป็น 7 ปีที่เลวร้าย เล่นหุ้นแบบการพนันไม่มีความรู้จนหมดตัวและเป็นหนี้ แต่ใน 7 ปีต่อมา (ตั้งแต่ปี 2009-2015) หลังจากที่รู้จักกับคำว่า VI ชีวิตก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก เปลี่ยนจาก "เล่นหุ้น" เป็น "ลงทุนในหุ้น" โดยคิดเสมอว่า ซื้อหุ้นก็เหมือนลงทุนทำธุรกิจ มองหาส่วนเผื่อความปลอดภัยในการซื้อหุ้น ทำให้ผลตอบแทนใน 7 ปีหลังค่อนข้างดี แต่นับจากนี้ไปคงไม่ง่ายแล้ว เพราะในเวลานี้สภาวะเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างแย่ มีแต่ข่าวร้ายมากมาย และมีแนวโน้มจะแย่ไปอีกนาน ดังนั้น 7 ปีหลังจากนี้ไปอาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้ดีได้เหมือนเดิม

ในสิ้นปี 2015 นี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทบทวนวิธีการลงทุน ผลงานของตัวเองในตลอด 7 ปีที่ผ่านมาว่ามีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง และควรจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างไรหรือไม่ เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับปี 2559 ต่อไป

จบปี 2015 SET Index ปิดที่ 1,288.02 จุด ลดลงไป 209.65 จุดจากสิ้นปี 2014 ที่อยู่ที่ 1,497.67 จุด หรือลดลงไปประมาณ 14% แต่ถ้าคิดรวมเงินปันผลโดย (ดูจาก TRI) จะพบว่าลดลงไป 12% ขณะที่พอร์ตการลงทุนของผมปีนี้ให้ผลตอบแทน +134% (ชนะตลาด 14ุ6%) ซึ่งถือว่าค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ (แต่ขนาดของพอร์ตหุ้นเติบโตขึ้นเพียง 113% จากสิ้นปีก่อนเพราะมีการดึงเงินออกมาใช้ระหว่างปี)

มูลค่าพอร์ตเทียบกับดัชนี SET TRI โดยปรับให้เริ่มต้นเท่ากันที่ 100 ในสิ้นปี 2014

ในปี 2015 นี้ถือหุ้น 100% ตลอดเวลา มีขายหุ้นเอาเงินมาใช้ทุกๆเดือนเนื่องจากไม่ได้ทำงานประจำแล้ว ในปีนี้มีการปรับพอร์ตใหญ่ๆ 3 ครั้ง คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปลายเดือนตุลาคม และสัปดาห์สุดท้ายของปี โดยช่วงเวลาส่วนใหญ่จะถือหุ้นหนักๆเพียงตัวเดียว (ตัวเดียวมากกว่า 90% ของพอร์ต) แต่มีบางช่วงเวลาสั้นๆที่กระจายไปลงทุนเท่าๆกัน 3-4 ตัว เหมือนเป็นจังหวะคั่นระหว่างที่ยังหาหุ้นที่ชอบมากๆไม่เจอ

กำไรส่วนใหญ่ในปีนี้ได้มาจากการถือหุ้น IRCP ได้กำไรมาเกือบ 100% เหตุผลที่เข้าซื้อ IRCP ในตอนนั้นแบบหมดพอร์ต คือเห็นบริษัทแจ้งข่าวกับตลาดว่าจะทำโรงไฟฟ้าพลังงานจะขยะ รู้สึกสะดุดตาจึงเข้าไปศึกษาดู เห็นว่าผู้บริหารมีโปรเจ็คค่อนข้างเยอะ มีความมั่นใจ รวมทั้งงบใน 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ค่อนข้างดี ผู้บริหารตั้งเป้าค่อนข้างท้าทาย คือ โต 30% ต่อปีต่อเนื่อง 2-3 ปีข้างหน้า ตอนนั้นดูแล้วน่าจะมีความเป็นไปได้เพราะรัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับ Digital economy บวกกับที่ผลงานของบริษัทที่ผ่านๆมาก็มักจะทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ผู้บริหารตั้งไว้ และที่สำคัญคือ P/E ต่ำมาก ไม่ถึง 10 เท่า ตอนนั้นเข้าไปซื้อและถือหุ้นบริษัทนี้ประมาณ 2 เดือนกว่าๆจึงขาย สาเหตุที่ขายคือราคาหุ้นขึ้นไปถึงเป้าหมายในใจแล้ว คือ P/E ประมาณ 20 เท่า จึงตัดสินใจทยอยขายออกจนหมด

หลังจากนั้นจึงเข้าซื้อหุ้น SIMAT ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่าบริษัทกำลังจะ Turnaround และเข้าสู่โหมดการเติบโต แต่การเข้าซื้อหุ้นของบริษัทเล็กๆครั้งนี้เริ่มไม่ง่ายเหมือนเดิมเนื่องจากพอร์ตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น กว่าจะซื้อจนครบก็ใช้เวลาหลายวัน หลังจากนั้นไม่ถึง 2 เดือนราคาหุ้นก็ขึ้นไปมากกว่า 40% จากราคาที่ซื้อ แต่ก็ไม่ได้ขายออกมา คิดแต่เพียงว่าจะรอให้ถึงเวลาที่บริษัท Turnaround สำเร็จในปี 2015 นี้ ตามการคาดการณ์ของผู้บริหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลประกอบการออกมาแย่กว่าที่คิด แนวโน้มการ Turnaround คาดว่าจะเลื่อนช้าออกไปอีกกว่าครึ่งปี การแข่งขันในธุรกิจที่ดูจะรุนแรงขึ้น บวกกับที่สภาวะตลาดหุ้นย่ำแย่ ราคาหุ้นหลายๆตัวลงมามากจนทำให้เชื่อว่าจะมี Upside มากกว่า จึงได้ตัดสินใจปรับพอร์ต ทยอยขายหุ้นเดิมออกไปบางส่วนในราคาขาดทุนเล็กน้อย 2%-3% และแบ่งเงินกระจายออกไปถือหุ้นที่น่าสนใจอีก 3 บริษัท คือ BKD-W1 LIT TPOLY ต่อมาราคาหุ้นทั้ง 3 บริษัทปรับตัวขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วงสั้นๆ พร้อมๆกับที่ไปเจอหุ้น GL ซึ่งบริษัทนี้น่าจะสามารถเติบโต ได้ในระยะยาวจากการขยายออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ย่ำแย่มากนัก ถึงแม้ราคาที่เข้าไปซื้อจะไม่ได้ถูกนัก (คาดว่าด้วยราคาที่ซื้อ คำนวณ Forward P/E สิ้นปี 2015 อยู่ที่ 30-32 เท่า) แต่เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตที่สูงมากๆในอนาคตและความแน่นอนในธุรกิจแล้วก็พอยอมรับได้ เชื่อว่า P/E ในปีหน้าจะลดลงค่อนข้างจากกำไรที่โตขึ้น บวกกับที่ GL-W3 กำลังจะหมดอายุ มีคนเทขายออกมาเรื่อยๆ กดดันหุ้นแม่ และมี gap ระหว่างแม่กับลูกค่อนข้างมาก จึงได้ทยอยซื้อ GL-W3 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนจะหมดอายุ เพื่อแปลงเป็นหุ้นแม่ โดยได้ขายหุ้นที่มีอยู่ 4 ตัวนั้น ออกมาเข้าบริษัทนี้บริษัทเดียวเกือบ 100% ของพอร์ต หลังจากนั้นราคาหุ้น GL ก็สวิงขึ้นลงแรง มาจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของปีด้วยกำไรประมาณ 23% ซึ่งถือว่ามาเร็วกว่าที่คาด จึงได้ตัดสินใจขายหุ้น GL ออกมาทั้งหมดโดยถือเงินสดครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งได้เข้าไปซื้อหุ้นขนาดเล็กบริษัทหนึ่งที่น่าจะมี upside มากกว่า (ในวันที่ขาย GL ออกไปนั้น ราคาขายหุ้น GL คาดว่ามี forward PE ปี 2015 ประมาณ 40-42 เท่า P/BV 3.5 เท่า และ P/E ปี 2016 ที่ประมาณ 28-30 เท่า)

ผลตอบแทนของพอร์ตในแต่ละปีเทียบกับผลตอบแทนของ SET TRI

กระแสเงินสด เติมเข้า-ถอนออก จากพอร์ตหุ้น

เมื่อได้มองย้อนกลับไปตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้สูงมากเหมือนนักลงทุนที่เก่งๆหลายๆคน แต่ก็ถือว่าผลงานเป็นที่น่าพอใจ ผลตอบแทนสะสมใน 7 ปีนี้อยู่ที่ 5,329% หรือคิดเป็นกำไร 53.29 เท่าจากเงินทุน แต่มูลค่าพอร์ตจริงโตน้อยกว่านี้เพราะมีการดึงเงินออกไปใช้จ่าย ถ้าดูจากกราฟจะเห็นว่ามีการนำเงินเดือนมาเติมเงินลงไปแค่ 2 ปีแรกเท่านั้น ปีที่ 3 แทบจะไม่มีการเติมเงินเข้าไปเลย และปีต่อๆมาก็ค่อยๆดึงเงินออกมามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่กลางปี 2014 เป็นต้นมาได้ลาออกจากงานประจำด้วยความจำเป็นบางอย่าง ทำให้ต้องขายหุ้นออกมาใช้จ่ายทุกๆเดือน

ก้าวแรกที่เริ่มเดินเข้ามาในเส้นทางนี้ ตั้งเป้าไว้แค่ 18% ต่อปี นับถึงตอนนี้ก็ถือว่าทะลุเป้า แต่ก็คงต้องดูกันยาวๆต่อไปเพราะที่ผ่านมาสภาวะตลาดค่อนข้างเอื้ออำนวย ในเส้นทางการลงทุนที่ผ่านมาผมจะเน้นเฉพาะปัจจัยพื้นฐาน (ไม่สนใจกราฟ ไม่สนใจสัญญาณซื้อขายทางเทคนิกเลย ตัดสินใจซื้อขายจากการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมเทียบกับราคาตลาดเท่านั้น ส่วนจังหวะในการเข้าซื้อนั้นคือไม่มี เจอหุ้นถูกใจ มี Upside เยอะก็เคาะขวาเลย) พบว่าสามารถชนะตลาดได้ทั้งหมด 5 ปี และแพ้ตลาด 2 ปี โดยมีเพียงปีเดียวที่ขาดทุน คือปี 2013 ขาดทุนไปประมาณ 10% ซึ่งในปีแรกๆนั้นชนะตลาดประมาณ 12-18% สม่ำเสมอ หลังจากนั้นเริ่มคิดว่าตัวเองแน่ มั่นใจในตัวเองมากเกินไป ความโลภเริ่มมากขึ้น (ทั้งที่ใน 7 ปีที่เลวร้ายก่อนหน้านี้เคยหมดตัวจากหุ้นมาแล้ว) จึงได้เริ่มกู้เงินโดยใช้บัญชีมาร์จิ้นในการซื้อหุ้นในปี 2012-2013 แต่ประกฏว่าใน 2 ปีที่ใช้บัญชีมาร์จิ้นนี้กลับเป็น 2 ปีที่แพ้ตลาด อาจจะเป็นเพราะมั่นใจจนเกินไป ประมาท ศึกษาน้อยลง ทำให้ผลตอบแทนแย่ลง หลังจากนั้นจึงเลิกใช้มาร์จิ้นในการซื้อหุ้น โดยพอร์ตกลับมาชนะตลาด และเติบโตแบบก้าวกระโดดในปี 2014 มีกำไรเกือบ 500% และยังกำไรต่อเนื่องในปี 2015

เมื่อลองสังเกตดูก็พบว่าใน 7 ปีของการลงทุนนี้สามารถแบ่งวิธีการลงทุนที่แตกต่างกันได้เป็น 3 ช่วงเวลาใหญ่ๆคือ

ช่วงที่ 1 - ปี 2009-2011
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เริ่มต้นศึกษาอ่านหนังสือแนว VI การซื้อหุ้น (1 ล้านบาทแรกก็ได้ในช่วงนี้ กลางๆปี 2010) ครั้งแรกๆจะหาหุ้นที่ปันผลเยอะๆตอนที่ตลาดตกหนักๆ เช่น LPN ต่อมาจะเริ่มมองหาหุ้นเติบโต เช่น IRP หลังจากนั้นเริ่มมองหามองหาธุรกิจที่ดีเยี่ยม อยู่ในกระแส Megatrend หาบริษัทที่มั่นคงและเติบโตได้ในระยะยาวๆ อย่างน้อยก็ 15-20% ต่อปี หุ้นที่ลงทุนในช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจประกันชีวิต และโรงพยาบาล เช่น BLA SCBLIF KH CPN โดยใน 3 ปีนี้ได้กำไรมากที่สุดจากการถือ BLA รองลงมาคือ SCBLIF และมีขาดทุนบ้างนิดหน่อยจาก PSL เนื่องจากการคาดการณ์วัฏจักรการฟื้นตัวของธุรกิจเรือที่ผิดพลาด ช่วง 3 ปีนี้ถือหุ้นโดยเฉลี่ยประมาณครั้งละ 2-4 ตัว บางตัวถือ 2-3 เดือน บางตัวถือ 1-2 ปี

ช่วงที่ 2 - ปี 2012-2013
ช่วงเวลานี้เริ่มมั่นใจในตัวเองมากขึ้น โลภมากขึ้น ใช้เงินกู้จากบัญชีมาร์จิ้น แต่ก็ยังเน้นกลุ่มเดิมๆ โดยหุ้นที่ถือในช่วงนี้เช่น BCH BH BDMS BLA SCBLIF CPN MINT HMPRO BIGC KBANK BLAND ใน 2 ปีนี้ ได้กำไรจาก SCBLIF มากที่สุด รองๆลงมาก็ MINT BDMS CPN และ BLA ตามลำดับ แต่ขาดทุนหนักๆจากการเข้าไปซื้อ BLAND-W2 ตอนที่จะหมดอายุ เกินตัว ทำให้มีเงินแปลงได้ไม่ครบ ช่วง 2 ปีนี้ถือหุ้นโดยเฉลี่ยประมาณครั้งละ 3-5 ตัว และถือนานประมาณครั้งละ 2-3 เดือน

ช่วงที่ 3 - ปี 2014-2015
ช่วงนี้เริ่มต้นด้วยความระมัดระวังและอารมณ์ประมาณหมดหวังจากผลตอบแทนปี 2013 ที่ขาดทุน 10% เลิกใช้มาร์จิ้น และพยายามขยายขอบข่ายความรู้ของตัวเอง พยายามไม่จำกัดกรอบการลงทุนในหุ้นแค่กลุ่มเดิมๆ ทำให้เห็นโอกาสในหุ้นขนาดเล็กๆที่รายใหญ่และสถาบันไม่ค่อยสนใจเพราะสภาพคล่องน้อย แต่พื้นฐานบริษัทใช้ได้ และอัตราการเติบโตสูง ในช่วงนี้ถือหุ้นโดยเฉลี่ยครั้งละ 1-3 ตัว โดยเลือกหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูงๆ ราคายังไม่แพง เฉลี่ยแต่ละตัวจะถือประมาณ 3-6 เดือน หุ้นที่ถือในช่วงนี้เช่น BWG RCL BSM SOLAR IRCP SIMAT GL BKD TPOLY LIT

สำหรับปี 2559 นี้ คงจะหาเลือกหาหุ้นขนาดกลาง (ไม่อยู่ใน SET50) หรือเล็ก (อยู่ใน MAI) ต่อไป เพราะเชื่อว่าการที่หุ้นมีขนาดเล็ก ทำให้สถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ ไม่สนใจ สภาพคล่องน้อย เข้าไม่ได้ ทำให้เรามีโอกาสพบหุ้นที่ดี ราคายังไม่แพง แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าไปลงทุนตัวใหญ่ไม่ได้ ถ้าโอกาสมาก็เอาหมด โดยจะระวังเป็นพิเศษ เลือกหาบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ การอ่อนของค่าเงินบาท โดยต้องมีอัตราการเติบโตในอนาคตที่สูงอย่างน้อย 20-30% ต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า และคาดหวังราคาหุ้นที่มี Upside อย่างน้อย 30-50% ใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งหากไม่สามารถหาหุ้นที่ตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้ ก็อาจจะต้องศึกษาและแบ่งเงินไปลงทุนในต่างประเทศ

เนื่องจากผมมองการลงทุนเหมือนทำธุรกิจ ที่ผ่านมาจึงลงทุนเฉพาะในหุ้นและวอร์แรนต์ของหุ้นเท่านั้น ไม่เคยลงทุนใน Future หรือ Option หรือ Forex หรือ DW (ด้วยความไม่ชอบส่วนตัว เพราะเป็น zero sum game คือกินกันเอง ถ้าเรากำไร แปลว่าต้องมีคนอื่นขาดทุน) โดยหลักคิดคือ เลือกหาบริษัทที่จะเติบโตได้ในระยะยาว หาธุรกิจที่ดีแล้วเราก็เข้าไปมีหุ้นส่วนในธุรกิจนั้น ได้รับปันผล และเมื่อมูลค่าของธุรกิจมากขึ้น ราคาหุ้นก็จะสะท้อนออกมาสูงขึ้นด้วย การเลือกหาธุรกิจที่จะโตไปได้เรื่อยๆในระยะยาวนั้นเพื่อว่าจะสามารถถือหุ้นไปได้นานๆตราบที่ราคาหุ้นยังน้อยกว่ามูลค่าของบริษัทที่ประเมินได้ แต่ถ้าราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเร็วจนถึงมูลค่าของบริษัทที่ประเมินไว้ ผมก็จะขายหุ้นออกมา และเนื่องจากบริษัทที่เหล่านี้น่าจะเติบโตได้ยาวๆ คนที่มารับซื้อต่อจากผมก็มีโอกาสที่จะมีกำไรจากราคาหุ้นที่น่าเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาวตามผลประกอบการของบริษัท ยกเว้นหากพบว่าวิเคราะห์บริษัทผิดไป เมื่อรู้ตัว ผมจะขายหุ้นออกมาทันทีไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนอยู่ก็ตาม

สรุปข้อคิดเบื้องต้นที่ได้เรียนรู้จากการลงทุนในตลาดหุ้นตลอด 14 ปีที่ผ่านมา
1. พอร์ตเล็กมีโอกาสทำกำไรได้สูงกว่าพอร์ตใหญ่
2. ไม่ว่าจะ VI หรือเทคนิก จะเล่นสั้นหรือยาว ถ้าศึกษารู้จริงล้วนสามารถทำกำไรสูงๆจนเป็นอิสระทางการเงินได้ทั้งนั้น
3. ถ้าต้องการจะเป็นอิสระทางเวลา และสบายใจไม่ต้องเครียดทุกๆวัน ควรลงทุนระยะยาว มองที่มูลค่ากิจการไม่ใช่ราคา
4. การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) กับการถือหุ้นยาวไม่เหมือนกัน การติดดอยไม่เรียกว่าการลงทุนแบบ VI ถ้าพื้นฐานแย่ลงก็ไม่ควรกอดหุ้นไว้
5. อดีตที่สวยหรูของบริษัท ไม่ได้รับประกันว่าอนาคตจะต้องดีด้วย การติดตามการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเสมอๆเป็นสิ่งจำเป็น
6. ไม่มีใครรู้จริง ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ราคาหุ้น สภาวะตลาด หรือแม้แต่ผลประกอบการได้อย่างแม่นยำทุกครั้งไป สิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ การเผื่อใจวางแผนเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินเป็นสิ่งจำเป็น
7. หุ้นขึ้นแรงๆมีทุกวัน อย่าไปไล่ซื้อ เรารวยได้โดยไม่จำเป็นต้องไปมีส่วนร่วมในหุ้นทุกตัวที่ขึ้นแรง
8. ไม่มีงานสัมนาไหนที่จะเปลี่ยนคนให้ลงทุนเก่งขึ้นได้จริงแบบทันทีทันใด ดังนั้นอย่าเสียเงินแพงๆไปอบรมสัมนาหุ้นเพื่อหวังรวยเร็ว
9. การลงทุนคือการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตร ไม่มี Short cut ไม่มีวิธีรวยเร็ว มีแต่ต้องทุ่มเทศึกษา สะสมความรู้และประสบการณ์เป็นเวลาหลายๆปี ผลตอบแทนที่ได้จะแปรผันตามความขยันทุ่มเทที่เราใส่ลงไป
10. การแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนนักลงทุนจะช่วยให้มีโอกาสพบบริษัทที่น่าสนใจมากขึ้น ดังนั้นควรจะหาโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการ หรือสัมนาฟรีบ้าง เพื่อเพิ่มความรู้และทำความรู้จักเพื่อนนักลงทุนใหม่ๆ
11. ภาพใหญ่ของธุรกิจสำคัญกว่าภาพเล็ก การเข้าไปจ้องมองระยะใกล้ๆในภาพเล็กเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้มองไม่เห็นภัยคุกคามที่กำลังจะมาถึง ตรงกันข้ามถ้ามองภาพใหญ่ออก ถึงภาพเล็กจะมองผิดไปบ้างก็ไม่ได้เสียหายนัก
12. ซื้อหุ้นคือซื้ออนาคต ถ้ามองอนาคตไม่ออกก็ไม่ควรซื้อ
13. หุ้นที่ขึ้นแรงๆมีทั้งหุ้นที่พื้นฐานดีและหุ้นที่พื้นฐานไม่ดี แต่ถ้าจะหาหุ้นที่ขึ้นแรงและยืนได้มั่นคงจะต้องมีพื้นฐานที่ดีรองรับ
14. หุ้นขนาดใหญ่ไม่ได้แปลว่าเป็นหุ้นพื้นฐานดี
15. หุ้นราคาต่ำบาทไม่ได้แปลว่าถูกกว่าหุ้นราคาหลักพัน ความถูกความแพงต้องเทียบราคาหุ้นกับมูลค่ากิจการที่ควรเป็น
16. จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดีต้องลงทุนในหุ้นเติบโต การลงทุนในหุ้นที่เน้นปันผลแต่กำไรในอนาคตไม่เติบโตจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้
17. หุ้นของกิจการที่ดี แข็งแกร่ง และเติบโตสูงๆ อาจจะให้ผลตอบแทนที่แย่ได้หากซื้อมาด้วยราคาที่แพง
18. ถึงแม้จะถือหุ้นครั้งละไม่กี่เดือน แต่ก็ต้องมองภาพอนาคต 2-3 ปีข้างหน้าให้ออก
19. อ่านบทวิเคราะห์ ไม่ต้องสนใจราคาเป้าหมาย ส่วนใหญ่เชื่อไม่ได้ ให้เลือกดูเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท และนำมาประเมินราคาหุ้นที่เหมาะสมเอง
20. ยิ่งโลภยิ่งจน
21. "กล้าเมื่อคนส่วนใหญ่กลัว และกลัวเมื่อคนส่วนใหญ่กล้า" พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะคำว่า "ส่วนใหญ่" นั้นวัดยาก
22. อิสระทางเวลามีค่ามากกว่าอิสระทางการเงิน
23. เซียนหุ้นทุกคนล้วนแต่เคยผิดพลาด และทุกวันนี้ก็ยังทำผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ
24. วิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน กล้าทุ่มเงินซื้อเมื่อพบโอกาส เมื่อซื้อแล้วให้ระแวงและทบทวนเสมอ
25. เจ้ามือที่แท้จริงคือ "ผลประกอบการ" (เครดิต พี่โจ ลูกอิสาน)
26. ราคาเป้าหมายต้องหาให้เป็น แต่อย่ายึดติดตัวเลข ถ้าหุ้นขึ้นมาเร็วใกล้เป้าหมายแล้วหมดแรง ต้องขายให้เป็น ในตลาดมีหุ้นอีกมากมายที่ราคายังห่างไกลเป้าหมายมากกว่า
27. ไม่ต้องพยายามซื้อที่จุดต่ำสุด ขายที่จุดสูงสุด พอใจในกำไรหรือขาดทุนที่ได้จากการทำตามแผนเสมอ
28. เมื่อพบหุ้นที่มีพื้นฐานดี upside เยอะ เคาะขวาทันที ไม่ต้องรอเกี่ยงราคาไม่กี่ช่อง
29. อย่าถือหุ้นจำนวนหลายตัวจน มากเกินไปจนไม่สามารถดู วิเคราะห์ และติดตามธุรกิจ ได้ครบทุกบริษัท
30. หลีกเลี่ยงลงทุนในหุ้นพิมพ์นิยมที่ใครๆก็พูดถึง ใครๆก็มีกัน