วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

มูลค่าของบริษัทประกันชีวิต

เนื่องจากเมื่อวานมีคนถามคำถามเกี่ยวกับธุรกิจประกันชีวิตในเวปบอร์ด Thaivi.org ในห้อง BLA ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจ และสามารถนำมาอธิบายให้กับคนอื่นๆได้เข้าใจธุรกิจประกันชีวิตกันมากขึ้นก็เลยเอามาลงในบทความนี้นะครับ
 
 
kondee wrote:
สนใจใน BLA เหมือนกัน

แต่ถ้าสัดส่วนกำไรมาจากเงินลงทุนมากๆ ก็ไม่น่าต่างจากเราซื้อ TDEX?

กำไรที่มาจากส่วนประกันที่เห็นก็แค่ thin air ที่มาจากอนาคต ... ถ้าเราไม่ใช่ ผบห ก็ไม่เหมือน wealth เลยสิ เงินที่ได้มาก็เอาไปจ่ายออกหมดในอนาคต เหมือนพวกธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่ต้องสร้างโรงใหม่แทนโรงเก่าไปเรื่อยๆ

หรือผมยังไม่เข้าใจตัวธุรกิจนี้ ?

Skyforever wrote:
สวัสดีครับคุณ kondee
ผมขอลองอธิบายด้วยความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัดของผมสักหน่อยนะครับ
สิ่งที่คุณ kondee คิดนั้นถูก แต่อาจจะถูกไม่ทั้งหมดนะครับ

สิ่งที่คุณ kondee เข้าใจถูกต้องคือ สัดส่วนกำไรมาจากเงินลงทุนมากๆ

จริงๆแล้วถ้าคิดกำไรจากการรับประกันภัยล้วนๆ คือเอาเบี้ยรับมาหักรายจ่ายค่าคอม ค่าสินไหม ค่าผลตอบแทนตามกรมธรรม์ ค่าพนักงาน และอื่นๆแล้ว เราจะพบว่ากรมธรรม์ส่วนใหญ่ซึ่งเน้นออมทรัพย์นั้นบริษัทจะขาดทุน เพราะเราจะต้องจ่ายคืนเป็นเงินผลตอบแทนจากการลงทุนให้ผู้เอาประกัน ประมาณ 2.xx-3.xx% หรืออาจจะมีกำไรบ้างในบางกรมธรรม์ที่เป็นประเภทคุ้มครองแบบชั่วระยะเวลาเพราะบริษัทจะจ่ายเงินให้ในกรณีที่เสียชีวิตเท่านั้น ไม่มีการจ่ายเงินคืนเมื่อครบสัญญา

ดังนั้นเราจะพบว่าที่ผ่านๆส่วนใหญ่แล้วบริษัทจะขาดทุนจากการรับประกันภัยมาตลอด ยกเว้นช่วงปีหลังๆที่เบี้ยรับส่วนใหญ่มาจากกรมธรรม์ที่จ่ายเบี้ยน้อยปี ซึ่งกรมธรรม์ประเภทนี้จะทำให้เรามีรายรับและกำไรโตมากๆในปีแรกๆ แต่ในปีหลังๆเมื่อหมดระยะจ่ายเบี้ยไป รายรับจะหายแต่ค่าใช้จ่ายโตมากขึ้น และทำให้กำไรจากการรับประกันภัยในปีหลังๆจากกรมธรรม์ประเภทนี้ติดลบได้

ทั้งนี้ถ้าดูจากตัวเลขกำไรหรือขาดทุนจากการรับประกันภัยในแต่ละปีแล้ว เราจะพบว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกำไรจากการลงทุน ดังนั้น คีย์หลักที่ทำให้บริษัทประกันเติบโตอย่างมาก และเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนนั้นคือ กำไรจากการนำเงินไปลงทุนนั่นเอง

คำถามต่อไปก็คือ แล้วทำไมเราต้องไปลงทุนผ่านบริษัทประกันชีวิต ทำไมเราซื้อหุ้น BLA ทำไมเราไม่เอาเงินของเราเองไปซื้อหุ้นที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่า พันธบัตร และหุ้นตัวใหญ่ๆที่ BLA ถืออยู่

ณ ปัจจุบัน ผมตีตัวเลขคร่าวๆว่า BLA มีทรัพย์สินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท มี Market Cap ประมาณ 5 หมื่นล้าน และถ้า BLA มี ROI 5% ก็เหมือนเราลงทุนได้ผลตอบแทนมา 10% (เพราะ Market cap ประมาณครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์) แต่ว่านี่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งในส่วนที่ขาดทุนจากการรับประกันภัย และทั้งยังต้องไปจ่ายภาษีอีก ผลตอบแทนสุทธิจะเหลือถึง 5% หรือเป่ายังไม่รู้เลย สู้เอาเงินไปลงทุนในหุ้นได้ผลตอบแทนแน่ๆมากกว่า 10% ไม่ดีกว่าหรือ

ถ้าคิดแค่นี้ผมก็คงไม่สนใจ BLA หรอกครับ เพราะสิ่งที่เราคิดข้างต้นนั้นเป็นการมองตัวเลขในปัจจุบันเท่านั้น เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตไม่เหมือนธุรกิจส่วนใหญ่ การที่บริษัทขายกรมธรรม์ได้ในแต่ละปีนั้น รายรับที่ได้ไม่ได้จบลงแค่ในปีนั้น แต่ยังส่งผลต่อรายรับในอนาคตที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลายๆปี

หมายความว่ายังไงครับ ก็หมายความว่าถึงแม้นับจากวันนี้ไป BLA เลิกขายกรมธรรม์ใหม่ไปตลอด เมื่อเวลาผ่านไปเราจะพบว่าสินทรัพย์ลงทุนของ BLA ไม่ได้หยุดอยู่ที่ 1 แสนล้าน แต่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากเบี้ยรับต่ออายุและบางส่วนก็มาจากกำไรที่ได้มาจากเงินลงทุน และนั่นอาจจะทำให้สินทรัพย์ลงทุนในอนาคตเพิ่มเป็น 4 แสนล้าน หรือ 5 แสนล้านได้ในอีก 20-30 ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องพึ่งเบี้ยใหม่เลย และการที่สินทรัพย์ลงทุนเพิ่มจนมีมูลค่าเป็น 4-5 เท่าก็หมายถึงผลตอบแทนของเราก็จะเพิ่มเป็น 4-5 เท่าจากเดิมเช่นกัน (ถ้าจากเดิมที่กำไรสุทธิคิดเป็น 5% ต่อปีจาก 5 หมื่นล้าน ก็กลายเป็นได้กำไรสุทธิ 20-25% ต่อปีจากเงิน 5 หมื่นล้าน)

แต่ในโลกของความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น BLA ยังคงขายเบี้ยใหม่อยู่ และยอดขายเบี้ยก็เติบโตอย่างมากทุกๆปี ซึ่งมาจากทั้งการเติบโตของจำนวนกรมธรรม์ที่ขายได้มากขึ้น (เนื่องจากคนให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตและออมเงินมากขึ้น) และทั้งมูลค่าเบี้ยที่จ่ายต่อกรมธรรม์ที่สูงขึ้น (เนื่องจากรายได้ประชากรเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อมากขึ้น ค่าเงินลดลง)

หากเราลองย้อนข้อมูลกลับไปดูเราจะพบว่า ในปี 2001-2005 BLA มีการเติบโตของสินทรัพย์ลงทุนเฉลี่ยประมาณ 27% ต่อปี และในปี 2005-2010 มีการเติบโตของสินทรัพย์ลงทุนเฉลี่ยประมาณ 25% ต่อปี และในอีก 5-10 ปีข้างหน้าสินทรัพย์ลงทุนก็คงจะเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20% ต่อปี

ดังนั้นการที่เราไม่ได้ซื้อ TDEX แต่มาลงทุนใน BLA เพราะเรามองเห็นอนาคต เรารู้ว่ายังมีเบี้ยรับอีกจำนวนมากที่จะเข้ามาทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของ BLA เติบโตเร็วกว่าการที่เราไปลงทุนในหุ้นเอง อย่างน้อยผมก็เชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า BLA จะมีการเติบโตของกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 20-25% ต่อปี และน่าจะเติบโตได้อีกเป็นสิบๆปี

จริงๆแล้วถ้าจะหาธุรกิจที่ใกล้เคียงประกันชีวิตหน่อยผมก็ขอยกไปเทียบกับอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าก็แล้วกัน ส่วนที่คล้ายกันก็คือ อสังหาริมทรัพย์ให้เช่าจะมีการทำสัญญาระยะยาว อาจจะเป็น 5ปี 10ปี หรือ 20ปี ซึ่งตลอดระยะเวลานี้เราก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเราจะมีรายได้จากค่าเช่าเข้ามาทุกๆปีจนครบสัญญา หากผู้เช่าขอยกเลิกก่อน เราก็อาจจะสามารถยึดเงินมัดจำได้อะไรประมาณนั้น ธุรกิจประกันชีวิตก็เช่นกัน เมื่อเราขายกรมธรรม์ไปแล้ว เจ้าของกรมธรรม์จะต้องจ่ายเบี้ยทุกปีต่อเนื่อง และหากมีการยกเลิกก่อนกำหนดก็จะต้องเสียเงินผลประโยชน์ให้บริษัทประกันชีวิต แต่ข้อได้เปรียบของธุรกิจประกันชีวิตที่เหนือกว่าก็คือ การขยายกิจการ การเพิ่มจำนวนลูกค้ามากๆนั้นแทบไม่จำเป็นต้องลงทุนใดๆเพิ่มเลย แต่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่านั้นไม่สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าได้ดังใจ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล

เราจะสังเกตเห็นว่าพวกกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่ามักจะมีการคิดมูลค่าของบริษัทจากกระแสเงินสดที่จะได้จากค่าเช่าในอนาคตข้างหน้าจนกว่าจะหมดอายุสัญญา ซึ่งในการคำนวณนั้นจะต้องมีการประมาณการณ์ค่าเช่าในอนาคต มีการคิดย้อนกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบันด้วย Discount rate และจะได้มูลค่าของกิจการเป็น NAV

ในทำนองเดียวกัน เราไม่สามารถมองตัวเลขแค่ปีปัจจุบันของบริษัทประกันชีวิตแล้วไปเทียบกับบริษัทอื่นได้ การประเมินมูลค่าของบริษัทประกันชีวิตจะต้องคำนึงถึงรายได้ที่จะได้ในอนาคตด้วยเช่นกัน

จริงๆแล้วในธุรกิจประกันชีวิตก็จะมีคนที่คำนวณว่าในแต่ละกรมธรรม์ที่ขายไปนั้นจะมีกำไรเท่าไร โดยต้องคิดคำนวณจากเบี้ยรับที่ได้มาหักค่าใช้จ่ายต่างๆ (รวมทั้งค่าใช้จ่ายในแง่ของผลตอบแทนจ่ายคืนและการจ่ายสินไหมเมื่อมีการเสียชีวิต) และคิดผลตอบแทนจากการลงทุน แล้วจึงสรุปออกมาว่าในแต่ละกรมธรรม์จะมีกำไรเท่าไร โดยการคำนวณก็คล้ายกับการหา NAV ของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า คือคำนวณหากระแสเงินสดในอนาคตแล้วคิดลดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งในธุรกิจประกันชีวิตเราจะเรียกว่า EV หรือ Embedded Value

ในการคำนวณ EV นั้นเป็นการคำนวณจากกรมธรรม์ที่ขายได้แล้วในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงมูลค่าของกรมธรรม์ที่ใหม่ที่จะขายได้ในอนาคต ดังนั้นหากการคำนวณใช้ Discount rate ที่ 10% และปัจจุบันในปี 2554 หาก EV มีมูลค่าประมาณ 20 บาท และหากยังไม่รวมเบี้ยใหม่ มูลค่าของ EV ก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 10% จนถึงปีสุดท้าย ดังนั้นปีหน้า EV ก็จะมีมูลค่า 22 บาท การเพิ่มขึ้นของ EV นี้จะคล้ายๆการเพิ่มขึ้นของ NAV ของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (แต่ในความเป็นจริง NAV ของกองทุนอสังหามักจะเพิ่มน้อย เพราะกองทุนเหล่านี้มักจะปันผลออกไปเป็นปริมาณที่มาก)

บางคนมองมูลค่าของ BLA จากมูลค่าทางบัญชี (BV) ซึ่ง BV นั้นเป็นมูลค่าในปัจจุบันเท่านั้น หากเราคิดถึงกรมธรรม์ที่ขายไปแล้ว รายได้ที่เราต้องได้รับในอนาคต เราจะพบว่ายิ่งเวลาผ่านไป ค่า BV จะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมาถึงวันที่ปิดกิจการไม่มีกรมธรรม์ค้างอยู่ BV จะมีมูลค่าเท่ากับ EV เลย

ถ้าไม่มีเบี้ยใหม่ เราก็คงไม่อยากซื้อหุ้น BLA ที่ราคาสูงกว่ามูลค่า EV (คล้ายๆกับการที่เราไม่อยากซื้อหุ้นของกองทุนอสังหาที่ราคาแพงกว่า NAV มากๆ) เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงว่าเบี้ยใหม่นั้นมีอยู่จริง และมีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่สูง เราก็ต้องมารู้จักอีกตัวนึงคือ VNB (Value of one year's New Business)

VNB นั้นคล้ายๆกับ EV แต่ต่างกันตรงที่ว่า EV นั้นคิดหามูลค่าจากรมธรรม์ทั้งหมดที่ขายไปแล้วทั้งกรมธรรม์ใหม่และกรมธรรม์เก่าที่ยังมีการชำระเบี้ยอยู่ แต่ VNB นั้นเป็นการหามูลค่าของเฉพาะกรมธรรม์ใหม่ที่เพิ่งขายออกไปในปีที่ผ่านมา (VNB เป็นส่วนหนึ่งของ EV)

จากข้อมูลสิ้นปี 2553 บนเงื่อนไขที่ ROI = 5% และ DIscount rate ที่ 10%
จากการประเมินของ Pricewaterhouse มูลค่า EV มีมูลค่าเท่ากับ 18.2 บาทต่อหุ้น และ EV มีมูลค่าเท่ากับ 1.8 บาทต่อหุ้น

ผมลองคำนวณหลักคิดง่ายๆให้ดูเป็นแนวทางนะครับ (ในความเป็นจริงมีตัวแปรที่ต้องพิจารณาอีกเยอะ)
หากเราคิดว่า VNB จะเติบโตปีละ 15% เราก็จะคำนวณหา EV ในแต่ละปีได้ดังนี้

2553
VNB = 1.8
EV = 18.2

2554
VNB = 1.8x1.15 = 2.07
EV = (18.2x1.1)+2.07 = 22.09 (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 21%)

2555
VNB = 1.8x1.15x1.15 = 2.38
EV = (22.09x1.1)+2.38 = 26.68 (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 21%)

....

ณ ปัจจุบันราคาหุ้นมีมูลค่าประมาณ 2 เท่าของ EV ดังนั้นถ้า EV โตปีละประมาณ 20% อาจจะใช้เวลา 4 ปี มูลค่าของ EV จึงจะโตมาทันราคาปัจจุบัน และอีก 8 ปีจากวันนี้ EV ก็จะมีมูลค่าประมาณ 2 เท่าของราคาปัจจุบัน

หรือบางคนอาจจะพิจารณาอัตราส่วน P/EV หรือ P/VNB
หรือ ราคาเหมาะสม = EV + (multiplier)xVNB --> หากใช้ multiplier เป็น 10 ก็หมายถึง ถ้า VNB ไม่เติบโต คือเท่ากันทุกปีแล้ว ราคาเหมาะสมที่เราพอใจจะซื้อนั้นเป็นราคาที่มีมูลค่าเท่ากับ EV ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ที่อธิบายมายืดยาวแค่อยากจะให้เห็นภาพประกันชีวิตมากขึ้น และเข้าใจว่าต่างกับเราเอาเงินไปซื้อหุ้นหรือพันธบัตรที่ BLA ถืออยู่อย่างไร ต่างกับการไปซื้อ TDEX อย่างไร

ไม่รู้ว่าตอบตรงคำถามคุณ kondee มั้ยครับ
 
kondee wrote:
คำถาม คือ Book ขณะนี้ 4.24 บาท เราใช้เงิน 4.24 บาท ซื้อของ 1 บาท (คุ้่มกับ asset ปัจจุบัน+series assetในอนาคตไหม?)

แต่ที่ผมยังติดใจ มีอยู่อีกนิด คือ asset ที่เรากำลังคิดกัน มันเป็นของเจ้าหนี้หรือไม่? สุดท้ายเมื่อหยุดกิจการทั้งหมดต้องคืนให้เจ้าหนี้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ซึ่งต่างจากธุรกิจพวกค้าปลีกที่ asset ที่ได้มานำไปลงทุนต่อ เป็น inventory กับ account receivable ซึ่งเมื่อหยุดกิจการ cash จะท่วมบริษัท และจะกลายเป็นของผู้ถือหุ้นทั้งหมด

และทำไม บริษัทประกันชีวิตในไทย ถึง trade กันที่ PBV สูงมากเมื่อเทียบกับ ธุรกิจประกันชีวิตเหมือนกันในต่างประเทศ ซึ่ง trade กันประมาณ 2 เท่า?

Skyforever wrote:
อย่างที่ผมอธิบายไว้แล้วว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจธุรกิจประกันชีวิต และมองภาพเทียบกับบริษัทอื่นๆทั่วไป คือจะมองที่ BV

การที่เรามอง BV ของบริษัทประกันชีวิตก็เหมือนกับการที่เราหามูลค่าของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า โดยดูเฉพาะเงินในมือ ณ ปัจจุบันเท่านั้น และตีมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าเป็น 0 ไป ถ้าเราคิดมูลค่าของกองทุนอสังหาริมทรัพย์โดยไม่คิดสิทธิการเช่า แล้วเราจะพบว่ามูลค่ากองทุนจะเกือบเป็น 0 มีมูลค่าน้อยมากๆ แต่ที่คนยอมซื้อแพงกว่า NAV เพราะมองถึงอนาคต และรู้ว่าผลรวมของ NAV กับ ปันผล จะโตไม่น้อยกว่าปีละ 10% ทุกปี เช่นกัน การที่เรามอง BV ของบริษัทประกันชีวิตเป็นการเลือกมองแค่ปัจจุบันและตัดมูลค่าของกรมธรรม์ที่ขายได้ไปแล้วออกหมด

EV นั้นคำนวณโดยหักหนี้สิน และค่าใช้จ่ายในอนาคตออกหมดแล้ว ดังนั้นเราไม่ต้องกังวลว่าในที่สุดบริษัทจะไม่มีอะไรเหลือ เพราะต้องนำไปจ่ายหนี้ จ่ายผลตอบแทนคืนผู้เอาประกันจนหมด

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ
EV ในปัจจุบันก็คือ BV ในอนาคตที่มีการคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบันนั่นเอง โดยคลอบคลุมเฉพาะกรมธรรม์ที่ขายไปแล้วเท่านั้น หักค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆออกหมดแล้ว กลายเป็นมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ (ในทางทฤฎีนะครับ เพราะในความเป็นจริงตัวแปรหลายๆอย่างในการคำนวณอาจไม่ตรงกับที่ตั้งข้อสมมติฐานไว้ก็ได้) นั่นหมายความว่าในอนาคตข้างหน้าเมื่อ BLA เลิกขายกรมธรรม์และปิดกิจการ วันนั้น BV จะวิ่งเข้ามาเท่า EV ครับ มีเงินสดเหลือคืนให้ผู้ถือหุ้นมากพอแน่นอน

ปัจจุบัน BLA มีการเทรดที่ P/EV ประมาณ 2 เท่าซึ่งถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านก็อยู่ในเกณฑ์สูงอันดับต้นๆ ซึ่งคงเป็นเพราะความคาดหวังต่อการเติบโตที่สูงของ VNB นั่นเอง ส่วนบริษัทประกันชีวิตในต่างประเทศที่ P/EV ต่ำๆ ก็มักจะเป็นบริษัทที่มีการเติบโตของ VNB และ EV ต่ำนั่นเองครับ

ในประเทศไทยบริษัทประกันชีวิตที่มาจากต่างชาติเอาตัวแทบไม่รอดเยอะแยะไป ที่จะรอดและเติบโตได้ก็เฉพาะที่ขายผ่านธนาคารเท่านั้น และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ BLA และบริษัทประกันชีวิตอื่นๆในไทยที่ขายผ่านธนาคารเติบโตเป็นอันดับต้นๆของภูมิภาค อย่างที่คุณ Tarzann บอกไว้ว่าการขายประกันชีวิตผ่านธนาคารก็เหมือน Modern trade ในโลกค้าปลีก

อีกเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตบ้านเราเติบโตโดดเด่นเมื่อเทียบกับต่างประเทศก็คือการส่งเสริมของรัฐบาล และการนำเบี้ยไปลดหย่อนภาษีได้ เพราะเราคงไม่ปฏิเสธใช่มั้ยครับว่าคนจำนวนมากทำประกันชีวิตส่วนหนึ่งเพื่อหวังลดหย่อนภาษี

randomwalk wrote:
การเติบโตของสินทรัพย์การลงทุนจะมีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับเบี้ยรับประกันในแต่ละปีใช่ไหมครับ
 
Skyforever wrote:
ใช่ครับ
 
randomwalk wrote:
และการเติบโตของกำไร และ ev จะมีอัตราเร่งมากกว่าการเติบโตของสินทรัพย์ลงทุนและเบี้ยรับประกัน เนื่องจากการประฟยัดขนาดใช่ไหมครับ
 
Skyforever wrote:
ไม่จำเป็นครับ เพราะ EV นั้นคำนวณรายรับล่วงหน้าไปถึงอนาคตสำหรับกรมธรรม์ปัจจุบัน และรวมไปถึงผลตอบแทนจากเงินลงทุนในอนาคตแล้ว ดังนั้นการเติบโตของ EV จึงไม่จำเป็นต้องมากกว่าการเติบโตของสินทรัพย์ลงทุน การเติบโตของ EV ขึ้นกับหลายอย่าง แต่หลักๆคือขึ้นกับปัจจัยดังนี้
1. ปกติ EV จะเติบโตปีละประมาณ 10% ตาม Discount rate บนสมมติฐานว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่คำนวณ และไม่มีการจ่ายปันผลออกไป
2. EV จะเติบโตมากขึ้นได้ถ้ามีเบี้ยใหม่เข้ามา หรือพูดง่ายๆก็คือ EV จะโตมากกว่า 10% ได้เพราะ VNB ซึ่งหากกรมธรรม์ใหม่เข้ามาเยอะ เติบโตดี และมีกำไรดีก็จะทำให้ EV เติบโตสูงๆได้
3. ในกรณีที่แนวโน้มไม่เป็นไปตามที่คำนวณไว้ตอนแรก เช่นตอนแรกถ้าเราคำนวณที่ ROI 5% หากในความเป็นจริงเราทำได้น้อยกว่า หรือมากกว่า และมีแนวโน้ม ROI เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ก็จะทำให้มูลค่า EV ที่คำนวณใหม่อาจจะมากขึ้นหรือลดลงจากเดิมได้ ดังนั้นหาก ROI โตขึ้นจากที่คำนวณไว้ EV ก็จะโตเพิ่มขึ้นได้ (ซึ่งข้อนี้ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจจะลดลงได้ถ้าพันธบัตรให้ดอกเบี้ยลดลงต่อเนื่องยาวนาน)

 
 
 
 
 

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

เรียนรู้ จริตในการลงทุน จากการอัดดินน้ำมันในวัยเด็ก

บ่อยครั้งจะได้ยินพี่ๆหลายๆคนแนะนำว่าให้ลงทุนอย่างมีความสุข ลงทุนให้ถูกกับจริตของตัวเอง แต่คำถามที่ตามมาคือ แล้วอะไรคือจริตของเรา ลงทุนแบบไหนทำให้เรามีความสุข แค่ลงทุนให้กำไรก็มีความสุขแล้วไม่ใช่หรือ

สมัย เด็กๆผมชอบเล่นสนุกกับเพื่อนๆแถวบ้าน และพี่น้องของผมมาก ตอนเด็กมีเกมให้ผมเล่นหลายอย่างเลย หนึ่งในเกมที่ผมจำได้ชัดเจนก็คือ การเล่นอัดดินน้ำมัน ตอนนั้นผมกับพี่น้องเล่นอัดดินน้ำมันกันทุกวันจนมือเป็นหนองเต็มไปหมด โดยในแต่ละวันเมื่อผมได้ค่าขนมมาวันละ 2 บาท ผมจะนำไปซื้อดินน้ำมัน ซึ่งตอนนั้นขายกันก้อนเล็กๆก้อนละ 1 บาท มีหลายสีให้เลือก หลังจากซื้อมาแล้วก็เอามาเล่นกัน โดยในการเล่นจะเริ่มต้นโดยการปั้นดินน้ำมันเป็นวงกลมแล้ววางลงที่พื้นแล้วผลัดกันเอาก้อนดินน้ำมันของตัวเองปาอัดลงไปใส่ดินน้ำมันของคนอื่น ซึ่งถ้าใครปาแม่นก็จะปาไปโดนของคนอื่น หลังจากนั้นเมื่อเรายกก้อนดินน้ำมันของเราขึ้นมาแล้วก้อนดินน้ำมันของคนอื่นติดขึ้นมาด้วย เราก็จะได้ดินน้ำมันของคนอื่นก้อนนั้นไปเลย แต่ถ้าเราปาพลาด ก็จะเป็นทีของคนอื่นปาบ้าง วนกันไปเรื่อยๆ

มีรู้สึกสนุกในการเล่น แข่งกัน รู้สึกเพลิดเพลินไปกับการอัดดินน้ำมัน บางวันผมก็แพ้ บางวันผมก็ชนะ และในบางครั้งผมก็ชนะติดต่อกันหลายวันทำให้ได้ดินน้ำมันสะสมมาเยอะมาก ผมได้เรียนรู้ความรู้สึกของตัวเองเวลาที่ผมหมดตัว เงินค่าขนมถูกนำไปซื้อดินน้ำมันมาเล่นจนหมด ยิ่งถ้าแพ้เร็วก็ยิ่งเสียดายเงิน ความรู้สึกนั้นในเวลาที่เล่นแพ้ค่อนข้างเครียด

แต่แปลกมาก วันที่ผมเล่นชนะ หลังจากเล่นเสร็จแทนที่ผมจะดีใจมีความสุข แต่กลับไม่ใช่ ผมสังเกตความรู้สึกตัวเองเวลาที่เล่นชนะได้ดินน้ำมันของคนอื่นมาจนหมดแล้วพบ ว่า ผมมีความทุกข์เช่นกัน แต่เป็นความทุกข์คนละแบบกับตอนเล่นแพ้ ความทุกข์ที่ผมมีจะชัดเจนมากขึ้นถ้าคนที่ผมเล่นชนะเป็นพี่ชายหรือน้องชายของ ผมเอง เพราะผมจะรู้สึกสงสาร เป็นห่วง และเสียใจอยู่ลึกๆเวลาที่เห็นพี่ชายหรือน้องชายผมเศร้าๆไปเพราะหมดตัว หลายๆครั้งจึงจบด้วยการแบ่งคืนให้บางส่วนเพื่อให้มีความหวัง มีทุนไปเล่นใหม่ ความรู้สึกแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตอนที่เล่นอัดดินน้ำมันอย่างเดียว เวลาเล่นเขี่ยรูปลอก เล่นไพ่กินรูปลอกสะสม ก็เป็นเช่นกัน และความรู้สึกเหล่านี้นี่เองที่เป็นสิ่งกำหนดวิถีการลงทุนของผมในปัจจุบัน

ใน อดีตผมเคยมีประสบการณ์ในการซื้อหุ้นวัฏจักร หรือหุ้นที่ขึ้นลงเป็นรอบๆสั้นๆ รวมทั้งหุ้นปั่นทั้งหลายด้วย ตอนที่ซื้อผมมีความเชื่อและหวังว่าหุ้นเหล่านี้ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นในเวลาไม่นาน แล้วตั้งใจไปขายตอนจะหมดรอบที่ราคาแพงๆ ความรู้สึกตอนที่ขายนั้นผมเชื่อว่าหุ้นใกล้จุดสูงสุด และอีกไม่นานหุ้นก็จะลง แต่เมื่อผมขายหุ้นแล้วหุ้นลงไปจริงๆ ความรู้สึกในวัยเด็กก็กลับมาอีกครั้ง ผมกลับรู้สึกสงสารคนที่มาซื้อหุ้นที่ราคาสูงๆต่อจากผม และไม่ได้มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น

หลังจากที่ผมอยู่ในตลาดหุ้นมา หลายปี ผมก็พบว่ามีหุ้นอยู่เพียงประเภทเดียวที่ผมลงทุนแล้วมีความสุข เป็นหุ้นที่ถูกจริตกับผม และกลายเป็นวิถีการลงทุนของผมมาจนทุกวันนี้ หุ้นประเภทนี้สามารถสร้างความพึงพอใจให้ได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย หุ้นที่ว่านี้ก็คือหุ้นที่มีผลประกอบการเติบโตขึ้นทุกปีๆ เพราะเมื่อผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลาหลายปี ราคาก็จะสะท้อนออกมาและทำให้ราคาหุ้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือไม่ว่าใครที่ซื้อหุ้นนี้ไปและถือนานพอ เวลาที่ขายก็จะได้กำไรเสมอ และคนที่มาซื้อต่อในภายหลังก็เช่นกัน เมื่อถือนานพอจนราคาปรับเพิ่มขึ้นตามผลประกอบการ เขาก็จะมีกำไร

ข้อ ดีอีกอย่างหนึ่งของหุ้นประเภทที่ผลประกอบการเติบโตทุกๆปีก็คือ หากเราประเมินมูลค่าหุ้นผิด และซื้อไปในราคาที่แพงในปีนี้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปผลประกอบการก็จะเพิ่มขึ้นมา และในที่สุดราคาหุ้นก็จะปรับเพิ่มสูงขึ้นทันราคาที่เราซื้อเอาไว้ก่อนหน้า นี้ ผิดกับหุ้นประเภทอื่นที่เมื่อเราซื้อผิดจังหวะ หรือผิดราคา เราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีกเลย หรือถ้ามีก็ต้องใช้เวลานานหลายปีเลยทีเดียว

แล้วคุณล่ะค้นพบแล้วยัง ว่าหุ้นประเภทไหนที่คุณลงทุนแล้วมีความสุข?

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

แผนการชีวิตของผม

คนเราจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเริ่มที่การตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ ไม่มีคนที่ประสบความสำเร็จคนใดที่ไม่มีเป้าหมายชีวิต
ถ้า คุณมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน คุณก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและก็มีโอกาสจะล้มเหลว แต่ถ้าคุณไม่มีเป้าหมายในชีวิตแล้ว คุณจะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้เลย

เป้าหมายที่ผมพูดถึง ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินทอง แต่เป้าหมายในชีวิตควรจะเป็นสิ่งที่เราจะมีความสุข การตั้งเป้าหมายในชีวิตนั้นอาจจะเป็นการทำประโยชน์ให้สังคม การได้ทำสิ่งที่รัก การได้ท่องเที่ยวทั่วโลก หรืออื่นๆ สำหรับผมแล้ว เป้าหมายในชีวิตคือการได้ทำให้คนรอบข้างมีความสุข การได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมสูงสุด และการได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้ได้มากที่สุด นี่ล่ะเป้าหมายของผม

ผม มีความใฝ่ฝันหนึ่งที่อยากจะทำมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย จนถึงตอนนี้ก็ยังมีความฝันเช่นนี้อยู่ ความใฝ่ฝันที่ว่าก็คือ การได้ตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม อาจจะเป็นเด็ก คนชรา ผู้พิการ หรือคนยากจน ทุกๆครั้งที่ผมเห็นเด็กด้อยโอกาส เห็นภาพข่าวคนยากจนค้นแค้น คนที่ลำบากในสังคม ทำให้ผมนึกถึงย้อนไปถึงตัวเองตอนเด็กๆ ชีวิตวัยเด็กผมนั้นยากจน อยู่อย่างลำบาก ใส่เสื้อผ้าแบบเก่าๆขาดๆ รองเท้าไม่ใส่ มอมแมม ไม่มีเงินซื้อขนมกิน

ขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้ ผมมีชีวิตที่ดีขึ้น และผมก็เชื่ออย่างไม่สงสัยเลยว่าพระองค์จะนำผมไปสู่เป้าหมายในชีวิตของผมได้

แน่ นอนเงินไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตผม แต่ผมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความฝันและเป้าหมายของผมเป็นจริง เงินเป็นทางผ่านไปสู่เป้าหมาย เงินนั้นจำเป็น หากผมตั้งมูลนิธิแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาช่วยเหลือคนอื่นจำนวนมากๆ การลงแรงลงมือช่วยเหลือด้วยตัวเราเองก็ช่วยทำให้สังคมดีได้ แต่คงจะไม่มากพอ ผมบอกกับตัวเองว่าถ้ามีองค์กร มีมูลนิธิก็คงจะดี และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมต้องมาวางแผนชีวิต และกำหนดหลักไมล์ชีวิตเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ผมมาลองคิดดูว่าจะตั้ง มูลนิธิควรจะมีเงินอย่างน้อยสักเท่าไหร่ดี ผมกะตัวเลขอย่างคนไม่มีประสบการณ์ว่าคงจะต้องมีอย่างน้อยสัก 100 ล้านบาท หลักไมล์ย่อยๆของผมจึงถูกกำหนดด้วยปริมาณเงินที่ผมจะต้องมีให้ได้ในแต่ละปีๆ ในต้นปี 2552 ผมเริ่มต้นสร้างตารางวางแผนเป้าหมายเงินที่จะมีในแต่ละปีตามตารางข้างล่าง โดยตอนนั้นผมมีเงินไม่ถึงแสนบาท หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้มาอย่างหนัก ทำให้ผมเข้าใจถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้น ผมคิดว่าถ้าผมนำเงินมาลงทุนในหุ้นอย่างมีความรู้ และไม่ใช้อารมณ์ ผมน่าจะได้ผลตอบแทนประมาณ 15% ต่อปี แต่ผมก็อยากพยายามให้ได้มากกว่านั้น ผมจึงตั้งเป้าหมายเงินในแต่ละปีด้วยผลตอบแทนที่ 18% ต่อปี และเมื่อรวมกับเงินเดือน เงินโบนัสที่จะมาเติมในแต่ละปีแล้ว ผมก็สามารถมาคำนวณวางแผนว่าผมจะมีเงินเท่าไรในแต่ละปี

ผมจำได้ดีใน วันที่ผมมีเงิน 1 ล้านบาทแรกในชีวิต วันนั้นทำให้ผมรู้สึกว่าผมก้าวมาได้อีกขึ้นหนึ่งแล้วที่จะทำให้ผมไปสู่เป้า หมายในชีวิตของผม ผมเชื่อว่าเงิน 1 ล้านบาทแรกนั้นเป็นเงินก้อนที่หามาได้ยากที่สุด เมื่อเรารู้วิธีหาเงินมาได้ 1 ล้านแรก เงินล้านต่อๆมาก็จะตามมา ซึ่งผมก็เคยโพสต์เล่าประสบการณ์ 1 ล้านบาทแรกของผมมาแล้วเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2010 ที่ผ่านมาตามลิงค์ viewtopic.php?t=42375

จน ถึงวันนี้ เดือนกันยายน2554 ผมมีเงินเลยเป้าหมายในปีนี้ไปมากแล้ว มากจนเลยไปถึงเป้าหมายในปี 2557 แต่นี่ก็ยังคงเป็นแค่เพียงการเริ่มต้นของการเดินทางอันยาวไกลของผมเท่านั้น ในอนาคตเป็นไปได้ว่าบางปีอาจจะมีผลตอบแทนติดลบก็ได้ ดังนั้นผมจึงยังคงยึดแผนการชีวิตนี้ต่อไป ด้วยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 18% ต่อปี ซึ่งจากแผนผมน่าจะออกจากงานประจำไปทำงานที่ไม่หวังรายได้ ได้ในปี 2568 เมื่อผมอายุ 46 ปี และจากการคำนวณผมน่าจะมีเงินถึง 100 ล้านบาทและตั้งมูลนิธิได้ภายในปี 2578 เมื่อผมมีอายุประมาณ 56 ปี

สิ่ง สำคัญนอกเหนือไปจากการไปสู่เป้าหมายแล้ว การใช้ชีวิตระหว่างการเดินทางก็ต้องมีความสุข คนที่จะประสบความสำเร็จได้เพราะถึงแม้เขาจะมองไปที่เป้าหมาย แต่เขาเห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างมีความสุขมากกว่า เป็นที่น่าแปลกมากที่ผมได้ยินเรื่องราวการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์มา ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเดินทางขึ้นไป ในคนกลุ่มนี้มีอดีตทหารที่แข็งแรงคนหนึ่ง เขาเดินทางไปพร้อมๆกับนักบวชแก่ๆอีกหลายคน อดีตทหารคนนี้มีความมุ่งมั่นที่จะพิชิตยอดเขามาก และพยายามปีนเขา เดินทางไปให้ถึงยอด แต่เมื่อเดินทางไปได้เพียงครึ่งทางปรากฏว่าอดีตทหารคนนี้กลับไปต่อไม่ไหว และยอมแพ้ในที่สุด
แต่นักบวชแก่ๆเหล่านั้นกลับสามารถขึ้นไปสู่ยอดเขาได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะนักบวชเหล่านี้มีความสุขในทุกๆย่างก้าวของการเดินทาง เขาชื่นชมธรรมชาติ เขาไม่รีบร้อนปีนเขา เพลิดเพลินกับสิ่งต่างๆรอบตัว และนั่นทำให้เขาไปถึงจุดหมายปลายทางได้

แต่ความสุขของแต่ละคนก็แตก ต่างกันไป ซึ่งความสุขของผมไม่ได้อยู่ที่การกินของแพงๆ ไม่ได้อยู่ที่การใช้ของแพงๆ ผมไม่มีรถยนต์ ใช้มือถือราคาไม่ถึงพันบาท แต่ผมก็มีความสุข เพราะความสุขของผมคือการใช้เงินอย่างรู้คุณค่า ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายธรรมดาๆ และทำให้คนรอบข้างมีความสุข

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การลงทุนแบบเสี่ยงๆ

มีเกมการลงทุนอยู่เกมหนึ่ง เกมนี้ประกอบไปด้วยกล่องอยู่ 2 ใบ ในกล่องแต่ละใบนี้จะมีไข่พลาสติกวางไว้ในกล่อง กล่องละ 4 ฟอง ซึ่งเรารู้สิ่งที่อยู่ภายในกล่องว่า

กล่องใบแรกนั้น มีเงินอยู่ในไข่ฟองละ 120 บาทเท่ากันหมดทุกฟอง (รวมมีเงินอยู่ในกล่อง 480 บาท)
ส่วนกล่องใบที่สองนั้นมีเงินฟองละ 200 บาทอยู่ในไข่ 3 ฟอง ส่วนฟองที่สี่นั้นว่างเปล่า (รวมมีเงินในกล่อง 600 บาท)

เงื่อนไขของเกมนี้คือ
1. ก่อนการเล่นแต่ละครั้งกล่องแต่ละใบจะมีไข่ครบ 4 ฟองเสมอ ถ้ามีการจับออกไปก็จะเอาไข่มาเติมใหม่ให้อยู่ในสภาพเดิม 2. คนที่เล่นเกมจะมีเงินเริ่มต้น 400 บาทเท่ากันหมด ถ้าเงินหมดแล้วจะหมดสิทธิ์เล่นเกมตลอดชีวิต
3. การเข้ามาเล่นเกมแต่ละครั้งจะต้องจ่ายเงิน 100 บาทต่อการจับไข่ขึ้นมา 1 ครั้ง
4. สามารถเล่นเกมได้ปีละครั้งเท่านั้น โดยสามารถเล่นได้ทุกปีตลอดชีวิตตราบที่ยังมีเงินจ่ายไม่น้อยกว่า 100 บาท
5. เราสามารถเพิ่มเดิมพันเกมโดยจ่ายมากกว่า 100 บาทได้ โดยเงินในไข่ก็จะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน เช่นถ้าเราจ่าย 200 บาทต่อการจับไข่ 1 ครั้ง เงินในไข่ของกล่องแรกจะเป็นฟองละ 240 บาท และกล่องที่สองจะเป็นฟองละ 400 บาท

ถ้าเราพูดถึงตามความน่าจะเป็นแล้วเราจะพบว่าถ้าเราจับไข่ 4 ครั้งโดยจ่ายเงินครั้งละ 100 บาททุกครั้ง ในกล่องแรกเราก็น่าจะได้เงินกลับมา 480 บาท (ผลตอบแทนรวม 20%) แต่ถ้าเราเลือกจับไข่ในกล่องใบที่สองแล้ว เราก็น่าจะได้เงินมารวม 600 บาท (ผลตอบแทนรวม 50%) ซึ่งดูยังไงกล่องใบที่สองก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

แต่ถ้ามองในแง่ความเสี่ยงแล้วเราจะพบกว่ากล่องใบแรกถึงแม้ผลตอบแทนจะต่ำกว่าแต่ไม่มีทางขาดทุนเลย แต่กล่องใบที่สองเรารู้อยู่ว่ามีความเสี่ยง ถึงแม้จะเสี่ยงน้อยก็ตามแต่ถ้าพลาดไปก็เท่ากับเงินหายไปเลย

จากประสบการณ์ในตลาดหุ้นมาประมาณ 10 ปี เท่าที่สังเกตุผู้คนรอบข้างที่เล่นหุ้น ตั้งแต่เพื่อนๆ ญาติพี่น้อง และลูกค้าในห้องค้าสมัยที่ผมยังทำงานเป็นมาร์เก็ตติ้ง จนถึงวันนี้ ผมพบว่าคนส่วนใหญ่นั้นมักจะชอบซื้อหุ้นที่คิดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงๆในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งๆที่รู้ว่าหุ้นเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วมีความเสี่ยงบางอย่างที่ซ่อนไว้อยู่ แต่ด้วยคิดว่าโอกาสพลาดนั้นมีน้อย หลายๆคนจึงชะล่าใจเลือกที่จะยอมปิดตาข้างนึงเสี่ยงลงทุน

ความเสี่ยงที่ผมพูดถึงนั้นเป็นความเสี่ยงอย่างรุนแรงในทางธุรกิจที่บริษัทหลายๆบริษัทมีอยู่ แต่บางคนก็ยังพยายามหลอกตัวเองว่าไม่เสี่ยงเพราะโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หรือคิดว่าถ้าจะเกิดขึ้นจริงคงจะไหวตัวทันขายออกมาได้ก่อน ทั้งๆที่ในหลายๆครั้งเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และความเสี่ยงเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นจริงๆแล้วอาจจะส่งผลต่อพอร์ตลงทุนของเราอย่างมาก เช่นความเสี่ยงว่าจะมีสงครามราคาเกิดขึ้น ความเสี่ยงว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ดีกว่ามาทดแทน ความเสี่ยงว่าราคาวัตถุดิบจะแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงอื่นๆอีกมากมาย

คนจำนวนมากเลือกที่จะลองเสี่ยงดู คงจะคล้ายๆกับการซื้อล็อตตารี่ หรือหวย หรือเล่นการพนันอื่นๆที่โอกาสชนะนั้นมีน้อย และทั้งๆที่รู้ว่ามีน้อย คนจำนวนมากก็ยังเต็มใจที่จะเสี่ยงอยู่ดี และผลสรุปก็คือ คนส่วนใหญ่จะขาดทุน คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะกำไร ซึ่งคนที่กำไรนั้นผมสังเกตพบว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะเน้นการลงทุนอย่างปลอดภัย คือจะไม่เข้าไปยุ่งกับหุ้นที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงมากแต่มีความไม่แน่นอนทางธุรกิจบางอย่างอยู่ที่จะทำให้สิ่งที่เราหวังนั้นไม่เป็นจริง

กลับมาที่เรื่องการจับไข่ คนจำนวนมากซึ่งชอบเสี่ยงดวง หรือชอบการเก็งกำไรคงจะเลือกจับไข่จากกล่องที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนวณความน่าจะเป็นแล้วกล่องที่สองให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งหากเขาโชคดีใน 3 ครั้งแรกเขาจับได้เงินตลอด คือปีแรกเขาเสี่ยงทุ่มหมดตัวเลยคือจ่าย 400 บาท และจับได้ไข่มาเป็นเงิน 800 บาท ในปีที่สองเขาก็จับไข่ถูกอีก และยังทุ่มสุดตัวเหมือนเดิม คือจ่าย 800 บาท แล้วได้เงินในไข่มา 1600 บาท เมื่อถึงปีที่ 3 เขาก็ยังคงโชคดีอยู่และทำให้เงินเพิ่มขึ้มาเป็น 3200 บาท แต่พอมาถึงปีที่ 4 เขาทุ่มจ่าย 3200 บาทไป และต้องพบกับความผิดหวังคือหมดตัว และไม่มีโอกาสได้แก้ตัวไปตลอดชีวิต ซึ่งเราจะพบว่าในชีวิตจริงมีคนที่เข้าข่ายนี้จำนวนมาก คือทุ่มไปกับหุ้นที่เขาไม่รู้จริง หรือบางคนรู้จริงว่ามีความเสี่ยงแต่ก็ยังเสี่ยงทุ่มหมดตัว เมื่อเขาใช้วิธีนี้ไปเรื่อยๆ ในช่วงแรกอาจจะรวยเร็ว แต่ในที่สุดก็จะสูญเสียไปเร็วเช่นกัน

แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงมากขึ้นหน่อยแต่ก็ยังยึดติดกับตัวเลขที่ว่ากล่องใบที่สองมีโอกาสให้ผลตอบแทนงามกว่า ดังนั้นเขายังคงลงทุนในกล่องใบที่ 2 อยู่ แต่ลงทุนด้วยความระมัดระวังขึ้นคือด้วยเงินที่มีอยู่เขาจะไม่ลงไปทีเดียวทั้งหมด 400 บาท แต่เขาลงทุนไปเพียงครั้งละ 100 บาทเท่านั้น ดังนั้นเมื่อลงทุนครบ 4 ปีเขาจะได้ผลตอบแทนตามความน่าจะเป็นแล้วคือ 600 บาท (หยิบได้ไข่ที่มีเงิน 3 ฟอง และได้ไข่ว่างเปล่า 1 ฟอง) การลงทุนลักษณะนี้ก็ถือว่าให้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร

แต่กลุ่มสุดท้ายเขาไม่สนใจผลตอบแทนที่สูงของกล่องใบที่สอง แต่เขาเลือกจะลงทุนในกล่องในแรกที่เขามั่นใจ 100% ว่าในแต่ละครั้งจะไม่มีทางขาดทุนแต่จะได้ผลตอบแทน 20% ดังนั้นคนกลุ่มนี้จะกล้าทุ่มหมดตัวคือ ในปีแรกยอมจ่าย 400 บาท และได้ผลตอบแทนมาเป็น 480 บาท พอปีที่สองเขาก็จะทุ่มหมดตัวเช่นกันคือยอมจ่าย 480 บาท และได้เงินกลับมาเป็น 576 บาท พอถึงปีที่สาม เขาก็จ่ายหมดเลยคือ 576 บาท และได้เงินกลับมาจำนวน 691.2 บาท และพอถึงปีที่สี่ เขาก็จะมีเงิน 829.44 บาท และนั่นทำให้คนกลุ่มนี้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุดเมื่อผ่านไป 4 ปี

การเล่นเกมนี้ก็เหมือนกับการลงทุนในชีวิตจริง ในแต่ละปีเราจะได้ยินว่าคนนั้นได้กำไร 2 เด้งบ้าง 5 เด้งบ้าง 10 เด้งบ้าง แต่ในระยะยาวแล้วคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นมักจะเป็นคนที่กำไรในแต่ละปีไม่ได้เยอะเลย วอร์เรน บัฟเฟตต์เองก็ไม่เคยกำไรเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อปี เพราะนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่เลือกที่จะทุ่มหมดหน้าตักกับหุ้นที่เขามั่นใจว่าไว้ใจได้ ค่อยๆเติบโตอย่างมั่นคงมากกว่าที่จะไปเสี่ยงลงทุนกับหุ้นที่อาจจะมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงแต่ไม่สามารถมั่นใจได้เต็มร้อย และเป็นเหตุผลว่าทำไมเต่าจึงชนะกระต่าย

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความผิดพลาดในการเลือกหุ้น

ถ้าจะถามคนที่มีประสบการณ์การลงทุนมายาวนาน คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่เคยเลือกหุ้นผิด การเลือกหุ้นผิดของแต่ละคน ก็แตกต่างกันไปตามความสามารถ ลักษณะนิสัยของคนนั้นๆ เท่าที่ผมได้สังเกต ความผิดพลาดในการเลือกหุ้นน่าจะแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ ประการที่หนึ่ง ความผิดพลาดอันเนื่องมาจากการเลือกซื้อหุ้นที่คิดว่าดีไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ดีอย่างที่คิด เมื่อเวลาผ่านไปจึงจะรู้ความจริง ซึ่งอาการที่มักจะสังเกตุได้ของความผิดพลาดประเภทนี้คือ "ติดดอย" และประการที่สอง ความผิดพลาดอันเนื่องมาจากการเลือกที่จะไม่ซื้อหุ้น หรือขายหุ้นที่คิดว่าไม่ดี แต่แท้ที่จริงแล้วหุ้นตัวนั้นกลับกลายเป็นหุ้นที่ดีมาก ซึ่งอาการที่มักจะสังเกตุเห็นได้คือ "ตกรถ"
ความผิดพลาดทั้งสองอย่างนั้นล้วนไม่ส่งผลดีต่อผลการลงทุนของเรา หลายๆคนพยายามที่จะไม่ให้เกิดความผิดพลาดทั้งสองอย่าง จนไม่ได้ตระหนักว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดทั้งสองอย่างพร้อมๆกันได้ ในชีวิตจริงเราจะต้องเลือกว่าเรายอมจะเกิดความผิดพลาดแบบไหนขึ้น แต่ความผิดพลาดอันไหนล่ะที่รุนแรงกว่า และเราจะทำอย่างไรเพื่อลดความผิดพลาดนั้น

ในความเป็นจริงแล้ว ความผิดพลาดจากการเลือก หรือตัดสินใจ มีให้พบเห็นกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน ถ้าจะยกตัวอย่างให้ชัดเจน ก็คงเป็นการพิพากษาตัดสินในศาล หากเราลองเปรียบเทียบการเลือกหุ้นกับการตัดสินพิพากษาในศาล การเลือกซื้อหุ้นที่คิดว่าดี แต่ที่จริงเป็นหุ้นที่ไม่ดี ก็คงเปรียบได้กับการตัดสินว่าคนที่มีความผิดจริงนั้นบริสุทธิ์ และความผิดพลาดจากการเลือกที่จะไม่ซื้อหุ้นที่ดีไว้ ก็คงเปรียบได้กับการตัดสินจำคุกคนบริสุทธิ์

ข้อเสียของการติดสินผิดทำให้คนดีต้องติดคุกคือ มีคนบริสุทธิ์ต้องมาถูกลงโทษทั้งๆที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเอง ครอบครัวของเขาก็อาจจะต้องลำบากหรือทุกข์ใจไปด้วย ส่วนการตัดสินให้คนชั่วหลุดพ้นความผิดนั้น ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือคนที่ทำชั่วไม่ถูกลงโทษ และอาจจะออกไปสร้างความชั่วให้กับคนในสังคมภายนอกได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีก ในสังคมเรานั้นยอมรับ เห็นพ้องต้องกันว่าการตัดสินผิด ทำให้คนที่บริสุทธิ์ต้องได้รับโทษความผิดนั้นเป็นเรื่องที่รุนแรงกว่าการปล่อยคนชั่วลอยนวล จึงเป็นที่มาของรูปแบบการพิจารณาคดีทุกวันนี้ ที่ในเบื้องต้นจะถือว่าจำเลยทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากความผิด และหากไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาชัดเจนพอ ก็จะไม่สามารถเอาผิดกับจำเลยได้ ในทางตรงกันข้ามกัน หากสังคมใดเห็นว่าการปล่อยคนชั่วออกมาลอยนวลนั้นร้ายแรงกว่าการลงโทษคนดีแล้ว สังคมนั้นก็จะใช้หลักการพิจารณาความผิด โดยมีสมมุติฐานเบื้องต้นว่าทุกคนที่โดนกล่าวหาว่าผิดนั้นมีความผิดจริง และหากต้องการพ้นข้อกล่าวหา จะต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ถ้าหลักฐานนั้นไม่เพียงพอ ก็จะต้องได้รับโทษ

กลับมาสู่เรื่องการลงทุน และการตัดสินใจเลือกซื้อหุ้น โดยถ้าจะพิจารณาความผิดพลาดทั้งสองลักษณะคือ การซื้อหุ้นไม่ดี กับการไม่ได้ซื้อหุ้นดีนั้น จะพบว่าในทุกๆการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นเราจำเป็นต้องเลือกว่ายอมที่จะเกิดความผิดพลาดแบบไหนขึ้น เช่นเราอาจจะพบหุ้นตัวหนึ่งซึ่งเราพบว่ามี Upside มากเหลือเกิน ในขณะเดียวกันเราก็เห็นว่ามีความไม่แน่นอนบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับผลประกอบการของบริษัทได้และทำให้เสียหายมากมายได้ เมื่อเราพิจารณาหุ้นตัวนี้ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อดี เราก็ต้องเลือกระหว่างยอมซื้อผิด หรือยอมเสียโอกาสซื้อหุ้นที่ดี การซื้อหุ้นไม่ดีมีข้อเสียคือเราอาจจะขาดทุนได้จากราคาที่ตกต่ำลงไป ส่วนการพลาดไม่ได้ซื้อหุ้นที่ดีไว้นั้น มีข้อเสียคือเราจะไม่ได้กำไรจากการขึ้นแรงๆของหุ้นตัวนั้น

ถ้าถามนักลงทุนทั่วไป ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็คงจะมองเหมือนกันคือ เสียดายดีกว่าเสียใจ นั่นคือ ไม่ได้กำไรไม่ว่า แต่ขออย่าให้ขาดทุนเลย เหมือนกับกฎการลงทุนที่สำคัญที่วอร์เรน บัฟเฟตต์เคยบอกไว้ว่า "จงอย่าขาดทุน"
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว หลักการนี้ไม่ได้ทำง่ายๆอย่างที่คิด เพราะถ้ามองหุ้นอยู่ 2 กลุ่ม คือ หนึ่ง หุ้นที่เป็นที่นิยม ธุรกิจกำลังโตอย่างรวดเร็ว แต่มีความเสี่ยงบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้กับธุรกิจ ที่ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่ถ้าเกิดแล้วก็จะกระทบกับมูลค่าของบริษัทอย่างรุนแรง หรือเป็นบริษัทที่เรามองอนาคตไปอีก 3-5 ปีข้างหน้าไม่ชัดเจน มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และบางทีหุ้นของบริษัทเหล่านี้ก็ประเมินหามูลค่าที่เหมาะสมยากจนบางทีเราก็กะประมาณ P/E ตามความรู้สึกของเราเอง และหลายๆครั้ง ด้วยความรักหุ้นเป็นทุน เราก็มักจะให้ P/E ที่สูงเกินไปโดยไม่รู้ตัว
ส่วนหุ้นกลุ่มที่สอง เป็นหุ้นที่คนไม่ค่อยนิยมซื้อขายกันมากนัก ปริมาณซื้อขายต่อวันมักจะไม่ติดหนึ่งในสิบของตลาด แต่ว่ามีการเติบโตสม่ำเสมอเกือบทุกปี มีประวัติที่ดีอย่างยาวนาน อาจจะไม่ก้าวกระโดดมากนัก แต่ก็เติบโตไม่น้อยกว่า 15% ต่อปี ธุรกิจมีความแน่นอนสูง และคาดการณ์อนาคตของธุรกิจได้ค่อนข้างชัดเจน ผู้บริหารไว้ใจได้ และสามารถประเมินมูลค่าของกิจการได้ไม่ยากนัก

ผมสังเกตุเห็นว่า คนจำนวนมากมักจะเลือกซื้อหุ้นในกลุ่มที่หนึ่งมากกว่า เพราะมักจะเลือกมองไปที่ Upside มากกว่าที่จะมอง Downside ถึงแม้ว่าหุ้นในกลุ่มที่สองจะสร้างผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนกว่า แต่ก็ไม่ดึงดูดใจมากพอ ทำให้นักลงทุนจำนวนมากเลือกที่จะเสี่ยงมากขึ้นแลกกับผลตอบแทนคาดหวังที่สูงขึ้น และในที่สุดก็จะมีคนจำนวนมากที่ขาดทุน ทั้งๆที่ได้ศึกษาข้อมูลบริษัทมาอย่างดี แต่ผิดพลาดจากการเลือกตัดสินใจ

1 ล้านบาทแรกในชีวิต

มีคำกล่าวจากคนที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาเป็นเศรษฐีหลายๆคนว่า "เงิน 1 ล้านบาทแรกนั้นเป็นเงินก้อนที่หามาด้วยความยากลำบากมากที่สุด ยากกว่าการหาเงินอีกหลายสิบหลายร้อยล้านบาทในเวลาต่อมา"

วันนี้ผมตัดสินใจตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาเพราะรู้สึกดีใจ ภูมิใจว่าในที่สุด หลังจากทำงานมาเป็นเวลาถึง 10 ปี ก็สามารถมีพอร์ทลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในชีวิต (ถึงแม้ว่าพรุ่งนี้หุ้นจะมีราคาลงไปบ้างก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ได้ชื่อว่ามีเงินล้านแล้วในวันนี้ อิอิ  :D ) และหวังว่าประสบการณ์ชีวิตผมจะเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆคนมีความพยายามในการไปให้ถึงเป้าหมายในอนาคตต่อไป

บางคนอาจจะรู้สึกว่าเงิน 1 ล้านบาทนั้นหามาได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับผมแล้ว มันช่างเป็นจำนวนเงินที่มากมายเหลือเกิน ผมมาจากฐานะทางบ้านที่ไม่ดีนัก เรียนหนังสือก็อาศัยทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวัน มาตลอด แม่ก็เข็นรถเข็นขายข้าวแกงมีรายได้ไม่มากนัก ผมได้เงินไปเรียนมหาวิทยาลัยวันละ 50 บาท พอเรียนจบมาได้ไม่นาน แม่ก็หยุดขายข้าวแกงเพราะไม่ไหว ผมกับพี่และน้องชายต้องช่วยกันรวมเงินมาไว้ให้แม่ทุกเดือน ทำงานครั้งแรกเงินเดือน 15,000 บาท ผมให้แม่เดือนละ 10,000 บาททุกเดือน ใช้เอง2-3 พันบาท เหลือเก็บเดือนละ 2 พันบาท และไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าในชีวิตนี้จะมีวันที่มีเงิน 1 ล้านบาทได้

ผมเริ่มเล่นหุ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว (ปี 2002) ตอนนั้นผมทำงานเป็นวิศวกรได้ประมาณ 2 ปี ตอนนั้นเล่นไปตามบทวิเคราะห์ ได้บ้างเสียบ้าง จนเมื่อผมทำงานมาได้ 5 ปี (ปี 2005) ผมก็ตัดสินใจไปทำงานเป็น มาร์เก็ตติ้ง โดยมีความเชื่อว่าถ้าเป็นคนเคาะซื้อเคาะขายหุ้นด้วยตัวเอง น่าจะสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำ ตอนนั้นมีเงินเก็บอยู่ 5 แสนบาทได้ รวมกับเงินที่พี่ชายฝากมาเล่นหุ้นด้วยอีก 2 แสน รวมเป็นเงิน 7 แสนบาท

หลังจากทำงานมาร์เก็ตติ้งมา 1 ปีเต็ม จนถึงสิ้นปี 2005 ในที่สุดผมก็หมดตัว เนื่องจากเล่นไปตามอารมณ์เหมือนการพนัน เล่นหนักๆเกินตัว ต้องไปขอยืมเงินพี่ชายเพิ่มมาอีกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน พี่ชายผมพอรู้ว่าเงิน 2 แสนของพี่สูญไปหมด ก็โกรธผมอย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ที่เคยดีๆในครอบครัวต้องเลวร้ายลงอย่างมาก

ผมลาออกจากมาร์เก็ตติ้งมาทำงานเป็นวิศวกรในโรงงานอีกครั้ง และห่างหายไปจากตลาดหุ้นในช่วงปี 2006-2008 แต่ก็เฝ้าดูอยู่ห่างๆ จนถึงช่วงที่ตลาดหุ้นตกหนักในปลายปี 2008 ผมก็เริ่มเอาเงินที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นบาทมาลงทุนในช่วงมกราคม 2009 แล้วก็เอาเงินเดือนที่เก็บเพิ่มได้ในแต่ละเดือนอีกประมาณเดือนละหมื่นบาทไปลงทุนเพิ่มทุกเดือน เนื่องจากผมรู้สึกเข็ดกับอดีตอันเลวร้ายของผม ผมจึงตั้งใจศึกษาและค้นหาวิธีการลงุทนที่เป็นหลักการจนมาพบเวบไซต์ของคุณโย (yoyo) เมื่อได้อ่านก็ยิ่งรู้สึกว่าใช่แนวทางที่ถูกต้อง แล้วผมก็มารู้จักหนังสือของ ดร.นิเวศน์ และเวปไซต์แห่งนี้ในภายหลัง โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุด ผมได้มารู้จักสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก คือดอกเบี้ยทบต้น ผมนั่งคำนวณด้วย Excel นั่งคำนวณทั้งวันโดยเปลี่ยนตัวเลขไปเรื่อยๆ แล้วก็เหมือนดวงตาเห็นธรรม เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้รู้และมั่นใจว่าผมเจอหนทางที่จะมีเงินได้ถึงร้อยล้านพันล้านในชีวิตของผมได้

ผมจะเตือนตัวเองเสมอว่าอย่าผิดพลาดอีก อย่าขาดทุนเด็ดขาด ดังนั้นผมจึงค่อยๆพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ โดยในตอนต้นปี 2009 ผมจะลงทุนในหุ้นที่รู้สึกว่าตกต่ำลงมามาก แต่คาดว่าผลประกอบการไตรมาสถัดไปน่าจะดีอยู่ พอถึงกลางปี 2009 ผมก็เริ่มเปลี่ยนมุมมอง คือมองหาบริษัทที่คิดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะมั่นใจได้ว่าผลประกอบการจะต้องดีขึ้นอย่างโดดเด่น จนมาถึงตอนนี้ ผมจะเลือกลุงทุนในบริษัทที่ผมคิดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าผลประกอบการก็จะมั่นใจได้แน่ว่าจะดีขึ้นอย่างแน่นอน อาจจะไม่ได้ก้าวกระโดดมากมาย แต่เติบโตต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อย 15% ต่อปี และผมจะคิดถึคงกรณีที่เลวร้ายสุดไว้เสมอ ว่าหากมีปัญหาการเมือง หรือวิกฤติการเงินจะส่งผลอะไรต่อบริษัทหรือไม่ ผมจะเลือกบริษัทที่มีภูมิต้านทานสูง เสมือนมาอยู่หอพัก หรือคอนโดสูงแล้วมองหาประตูหนีไฟเอาไว้ก่อน

ผมตั้งเป้าระยะยาวไว้กับตัวเองจนถึงอายุ 60 ปี ทำเป็น Grant chart เอาไว้ว่าแต่ละปีจะมีทรัพย์สินมูลค่าเท่าไร ผมคาดหวังไว้ที่ 18% ต่อปี ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่าย ผมจะมีเงินประมาณ 100 ล้านบาทเมื่อมีอายุประมาณ 55 ปี ซึ่งเป็นปีที่ผมตั้งใจว่าจะตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อช่วยเหลือสังคมซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของผมมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย

จากประสบการณ์ของผม ยามที่ผมโลภ ไม่รู้จักพอ หวังรวยเร็ว ผมจะขาดทุนอย่างหนัก แต่ยามที่ผมรู้จักพอ ไม่หวังรวยเร็ว กลับมีกำไรมากกว่าที่คาด มันเป็นสัจธรรมสำหรับชีวิตผม ผมเรียนรู้ว่าในตลาดหุ้น จิตใจสำคัญกว่าความรู้มากยิ่งนัก