วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

มูลค่าของบริษัทประกันชีวิต

เนื่องจากเมื่อวานมีคนถามคำถามเกี่ยวกับธุรกิจประกันชีวิตในเวปบอร์ด Thaivi.org ในห้อง BLA ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจ และสามารถนำมาอธิบายให้กับคนอื่นๆได้เข้าใจธุรกิจประกันชีวิตกันมากขึ้นก็เลยเอามาลงในบทความนี้นะครับ
 
 
kondee wrote:
สนใจใน BLA เหมือนกัน

แต่ถ้าสัดส่วนกำไรมาจากเงินลงทุนมากๆ ก็ไม่น่าต่างจากเราซื้อ TDEX?

กำไรที่มาจากส่วนประกันที่เห็นก็แค่ thin air ที่มาจากอนาคต ... ถ้าเราไม่ใช่ ผบห ก็ไม่เหมือน wealth เลยสิ เงินที่ได้มาก็เอาไปจ่ายออกหมดในอนาคต เหมือนพวกธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่ต้องสร้างโรงใหม่แทนโรงเก่าไปเรื่อยๆ

หรือผมยังไม่เข้าใจตัวธุรกิจนี้ ?

Skyforever wrote:
สวัสดีครับคุณ kondee
ผมขอลองอธิบายด้วยความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัดของผมสักหน่อยนะครับ
สิ่งที่คุณ kondee คิดนั้นถูก แต่อาจจะถูกไม่ทั้งหมดนะครับ

สิ่งที่คุณ kondee เข้าใจถูกต้องคือ สัดส่วนกำไรมาจากเงินลงทุนมากๆ

จริงๆแล้วถ้าคิดกำไรจากการรับประกันภัยล้วนๆ คือเอาเบี้ยรับมาหักรายจ่ายค่าคอม ค่าสินไหม ค่าผลตอบแทนตามกรมธรรม์ ค่าพนักงาน และอื่นๆแล้ว เราจะพบว่ากรมธรรม์ส่วนใหญ่ซึ่งเน้นออมทรัพย์นั้นบริษัทจะขาดทุน เพราะเราจะต้องจ่ายคืนเป็นเงินผลตอบแทนจากการลงทุนให้ผู้เอาประกัน ประมาณ 2.xx-3.xx% หรืออาจจะมีกำไรบ้างในบางกรมธรรม์ที่เป็นประเภทคุ้มครองแบบชั่วระยะเวลาเพราะบริษัทจะจ่ายเงินให้ในกรณีที่เสียชีวิตเท่านั้น ไม่มีการจ่ายเงินคืนเมื่อครบสัญญา

ดังนั้นเราจะพบว่าที่ผ่านๆส่วนใหญ่แล้วบริษัทจะขาดทุนจากการรับประกันภัยมาตลอด ยกเว้นช่วงปีหลังๆที่เบี้ยรับส่วนใหญ่มาจากกรมธรรม์ที่จ่ายเบี้ยน้อยปี ซึ่งกรมธรรม์ประเภทนี้จะทำให้เรามีรายรับและกำไรโตมากๆในปีแรกๆ แต่ในปีหลังๆเมื่อหมดระยะจ่ายเบี้ยไป รายรับจะหายแต่ค่าใช้จ่ายโตมากขึ้น และทำให้กำไรจากการรับประกันภัยในปีหลังๆจากกรมธรรม์ประเภทนี้ติดลบได้

ทั้งนี้ถ้าดูจากตัวเลขกำไรหรือขาดทุนจากการรับประกันภัยในแต่ละปีแล้ว เราจะพบว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกำไรจากการลงทุน ดังนั้น คีย์หลักที่ทำให้บริษัทประกันเติบโตอย่างมาก และเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนนั้นคือ กำไรจากการนำเงินไปลงทุนนั่นเอง

คำถามต่อไปก็คือ แล้วทำไมเราต้องไปลงทุนผ่านบริษัทประกันชีวิต ทำไมเราซื้อหุ้น BLA ทำไมเราไม่เอาเงินของเราเองไปซื้อหุ้นที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่า พันธบัตร และหุ้นตัวใหญ่ๆที่ BLA ถืออยู่

ณ ปัจจุบัน ผมตีตัวเลขคร่าวๆว่า BLA มีทรัพย์สินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท มี Market Cap ประมาณ 5 หมื่นล้าน และถ้า BLA มี ROI 5% ก็เหมือนเราลงทุนได้ผลตอบแทนมา 10% (เพราะ Market cap ประมาณครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์) แต่ว่านี่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งในส่วนที่ขาดทุนจากการรับประกันภัย และทั้งยังต้องไปจ่ายภาษีอีก ผลตอบแทนสุทธิจะเหลือถึง 5% หรือเป่ายังไม่รู้เลย สู้เอาเงินไปลงทุนในหุ้นได้ผลตอบแทนแน่ๆมากกว่า 10% ไม่ดีกว่าหรือ

ถ้าคิดแค่นี้ผมก็คงไม่สนใจ BLA หรอกครับ เพราะสิ่งที่เราคิดข้างต้นนั้นเป็นการมองตัวเลขในปัจจุบันเท่านั้น เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตไม่เหมือนธุรกิจส่วนใหญ่ การที่บริษัทขายกรมธรรม์ได้ในแต่ละปีนั้น รายรับที่ได้ไม่ได้จบลงแค่ในปีนั้น แต่ยังส่งผลต่อรายรับในอนาคตที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลายๆปี

หมายความว่ายังไงครับ ก็หมายความว่าถึงแม้นับจากวันนี้ไป BLA เลิกขายกรมธรรม์ใหม่ไปตลอด เมื่อเวลาผ่านไปเราจะพบว่าสินทรัพย์ลงทุนของ BLA ไม่ได้หยุดอยู่ที่ 1 แสนล้าน แต่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากเบี้ยรับต่ออายุและบางส่วนก็มาจากกำไรที่ได้มาจากเงินลงทุน และนั่นอาจจะทำให้สินทรัพย์ลงทุนในอนาคตเพิ่มเป็น 4 แสนล้าน หรือ 5 แสนล้านได้ในอีก 20-30 ปีข้างหน้าโดยไม่ต้องพึ่งเบี้ยใหม่เลย และการที่สินทรัพย์ลงทุนเพิ่มจนมีมูลค่าเป็น 4-5 เท่าก็หมายถึงผลตอบแทนของเราก็จะเพิ่มเป็น 4-5 เท่าจากเดิมเช่นกัน (ถ้าจากเดิมที่กำไรสุทธิคิดเป็น 5% ต่อปีจาก 5 หมื่นล้าน ก็กลายเป็นได้กำไรสุทธิ 20-25% ต่อปีจากเงิน 5 หมื่นล้าน)

แต่ในโลกของความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น BLA ยังคงขายเบี้ยใหม่อยู่ และยอดขายเบี้ยก็เติบโตอย่างมากทุกๆปี ซึ่งมาจากทั้งการเติบโตของจำนวนกรมธรรม์ที่ขายได้มากขึ้น (เนื่องจากคนให้ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตและออมเงินมากขึ้น) และทั้งมูลค่าเบี้ยที่จ่ายต่อกรมธรรม์ที่สูงขึ้น (เนื่องจากรายได้ประชากรเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อมากขึ้น ค่าเงินลดลง)

หากเราลองย้อนข้อมูลกลับไปดูเราจะพบว่า ในปี 2001-2005 BLA มีการเติบโตของสินทรัพย์ลงทุนเฉลี่ยประมาณ 27% ต่อปี และในปี 2005-2010 มีการเติบโตของสินทรัพย์ลงทุนเฉลี่ยประมาณ 25% ต่อปี และในอีก 5-10 ปีข้างหน้าสินทรัพย์ลงทุนก็คงจะเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20% ต่อปี

ดังนั้นการที่เราไม่ได้ซื้อ TDEX แต่มาลงทุนใน BLA เพราะเรามองเห็นอนาคต เรารู้ว่ายังมีเบี้ยรับอีกจำนวนมากที่จะเข้ามาทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของ BLA เติบโตเร็วกว่าการที่เราไปลงทุนในหุ้นเอง อย่างน้อยผมก็เชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า BLA จะมีการเติบโตของกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 20-25% ต่อปี และน่าจะเติบโตได้อีกเป็นสิบๆปี

จริงๆแล้วถ้าจะหาธุรกิจที่ใกล้เคียงประกันชีวิตหน่อยผมก็ขอยกไปเทียบกับอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าก็แล้วกัน ส่วนที่คล้ายกันก็คือ อสังหาริมทรัพย์ให้เช่าจะมีการทำสัญญาระยะยาว อาจจะเป็น 5ปี 10ปี หรือ 20ปี ซึ่งตลอดระยะเวลานี้เราก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเราจะมีรายได้จากค่าเช่าเข้ามาทุกๆปีจนครบสัญญา หากผู้เช่าขอยกเลิกก่อน เราก็อาจจะสามารถยึดเงินมัดจำได้อะไรประมาณนั้น ธุรกิจประกันชีวิตก็เช่นกัน เมื่อเราขายกรมธรรม์ไปแล้ว เจ้าของกรมธรรม์จะต้องจ่ายเบี้ยทุกปีต่อเนื่อง และหากมีการยกเลิกก่อนกำหนดก็จะต้องเสียเงินผลประโยชน์ให้บริษัทประกันชีวิต แต่ข้อได้เปรียบของธุรกิจประกันชีวิตที่เหนือกว่าก็คือ การขยายกิจการ การเพิ่มจำนวนลูกค้ามากๆนั้นแทบไม่จำเป็นต้องลงทุนใดๆเพิ่มเลย แต่อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่านั้นไม่สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าได้ดังใจ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล

เราจะสังเกตเห็นว่าพวกกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่ามักจะมีการคิดมูลค่าของบริษัทจากกระแสเงินสดที่จะได้จากค่าเช่าในอนาคตข้างหน้าจนกว่าจะหมดอายุสัญญา ซึ่งในการคำนวณนั้นจะต้องมีการประมาณการณ์ค่าเช่าในอนาคต มีการคิดย้อนกลับมาเป็นมูลค่าในปัจจุบันด้วย Discount rate และจะได้มูลค่าของกิจการเป็น NAV

ในทำนองเดียวกัน เราไม่สามารถมองตัวเลขแค่ปีปัจจุบันของบริษัทประกันชีวิตแล้วไปเทียบกับบริษัทอื่นได้ การประเมินมูลค่าของบริษัทประกันชีวิตจะต้องคำนึงถึงรายได้ที่จะได้ในอนาคตด้วยเช่นกัน

จริงๆแล้วในธุรกิจประกันชีวิตก็จะมีคนที่คำนวณว่าในแต่ละกรมธรรม์ที่ขายไปนั้นจะมีกำไรเท่าไร โดยต้องคิดคำนวณจากเบี้ยรับที่ได้มาหักค่าใช้จ่ายต่างๆ (รวมทั้งค่าใช้จ่ายในแง่ของผลตอบแทนจ่ายคืนและการจ่ายสินไหมเมื่อมีการเสียชีวิต) และคิดผลตอบแทนจากการลงทุน แล้วจึงสรุปออกมาว่าในแต่ละกรมธรรม์จะมีกำไรเท่าไร โดยการคำนวณก็คล้ายกับการหา NAV ของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า คือคำนวณหากระแสเงินสดในอนาคตแล้วคิดลดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งในธุรกิจประกันชีวิตเราจะเรียกว่า EV หรือ Embedded Value

ในการคำนวณ EV นั้นเป็นการคำนวณจากกรมธรรม์ที่ขายได้แล้วในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงมูลค่าของกรมธรรม์ที่ใหม่ที่จะขายได้ในอนาคต ดังนั้นหากการคำนวณใช้ Discount rate ที่ 10% และปัจจุบันในปี 2554 หาก EV มีมูลค่าประมาณ 20 บาท และหากยังไม่รวมเบี้ยใหม่ มูลค่าของ EV ก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 10% จนถึงปีสุดท้าย ดังนั้นปีหน้า EV ก็จะมีมูลค่า 22 บาท การเพิ่มขึ้นของ EV นี้จะคล้ายๆการเพิ่มขึ้นของ NAV ของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (แต่ในความเป็นจริง NAV ของกองทุนอสังหามักจะเพิ่มน้อย เพราะกองทุนเหล่านี้มักจะปันผลออกไปเป็นปริมาณที่มาก)

บางคนมองมูลค่าของ BLA จากมูลค่าทางบัญชี (BV) ซึ่ง BV นั้นเป็นมูลค่าในปัจจุบันเท่านั้น หากเราคิดถึงกรมธรรม์ที่ขายไปแล้ว รายได้ที่เราต้องได้รับในอนาคต เราจะพบว่ายิ่งเวลาผ่านไป ค่า BV จะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมาถึงวันที่ปิดกิจการไม่มีกรมธรรม์ค้างอยู่ BV จะมีมูลค่าเท่ากับ EV เลย

ถ้าไม่มีเบี้ยใหม่ เราก็คงไม่อยากซื้อหุ้น BLA ที่ราคาสูงกว่ามูลค่า EV (คล้ายๆกับการที่เราไม่อยากซื้อหุ้นของกองทุนอสังหาที่ราคาแพงกว่า NAV มากๆ) เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงว่าเบี้ยใหม่นั้นมีอยู่จริง และมีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่สูง เราก็ต้องมารู้จักอีกตัวนึงคือ VNB (Value of one year's New Business)

VNB นั้นคล้ายๆกับ EV แต่ต่างกันตรงที่ว่า EV นั้นคิดหามูลค่าจากรมธรรม์ทั้งหมดที่ขายไปแล้วทั้งกรมธรรม์ใหม่และกรมธรรม์เก่าที่ยังมีการชำระเบี้ยอยู่ แต่ VNB นั้นเป็นการหามูลค่าของเฉพาะกรมธรรม์ใหม่ที่เพิ่งขายออกไปในปีที่ผ่านมา (VNB เป็นส่วนหนึ่งของ EV)

จากข้อมูลสิ้นปี 2553 บนเงื่อนไขที่ ROI = 5% และ DIscount rate ที่ 10%
จากการประเมินของ Pricewaterhouse มูลค่า EV มีมูลค่าเท่ากับ 18.2 บาทต่อหุ้น และ EV มีมูลค่าเท่ากับ 1.8 บาทต่อหุ้น

ผมลองคำนวณหลักคิดง่ายๆให้ดูเป็นแนวทางนะครับ (ในความเป็นจริงมีตัวแปรที่ต้องพิจารณาอีกเยอะ)
หากเราคิดว่า VNB จะเติบโตปีละ 15% เราก็จะคำนวณหา EV ในแต่ละปีได้ดังนี้

2553
VNB = 1.8
EV = 18.2

2554
VNB = 1.8x1.15 = 2.07
EV = (18.2x1.1)+2.07 = 22.09 (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 21%)

2555
VNB = 1.8x1.15x1.15 = 2.38
EV = (22.09x1.1)+2.38 = 26.68 (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 21%)

....

ณ ปัจจุบันราคาหุ้นมีมูลค่าประมาณ 2 เท่าของ EV ดังนั้นถ้า EV โตปีละประมาณ 20% อาจจะใช้เวลา 4 ปี มูลค่าของ EV จึงจะโตมาทันราคาปัจจุบัน และอีก 8 ปีจากวันนี้ EV ก็จะมีมูลค่าประมาณ 2 เท่าของราคาปัจจุบัน

หรือบางคนอาจจะพิจารณาอัตราส่วน P/EV หรือ P/VNB
หรือ ราคาเหมาะสม = EV + (multiplier)xVNB --> หากใช้ multiplier เป็น 10 ก็หมายถึง ถ้า VNB ไม่เติบโต คือเท่ากันทุกปีแล้ว ราคาเหมาะสมที่เราพอใจจะซื้อนั้นเป็นราคาที่มีมูลค่าเท่ากับ EV ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ที่อธิบายมายืดยาวแค่อยากจะให้เห็นภาพประกันชีวิตมากขึ้น และเข้าใจว่าต่างกับเราเอาเงินไปซื้อหุ้นหรือพันธบัตรที่ BLA ถืออยู่อย่างไร ต่างกับการไปซื้อ TDEX อย่างไร

ไม่รู้ว่าตอบตรงคำถามคุณ kondee มั้ยครับ
 
kondee wrote:
คำถาม คือ Book ขณะนี้ 4.24 บาท เราใช้เงิน 4.24 บาท ซื้อของ 1 บาท (คุ้่มกับ asset ปัจจุบัน+series assetในอนาคตไหม?)

แต่ที่ผมยังติดใจ มีอยู่อีกนิด คือ asset ที่เรากำลังคิดกัน มันเป็นของเจ้าหนี้หรือไม่? สุดท้ายเมื่อหยุดกิจการทั้งหมดต้องคืนให้เจ้าหนี้ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ซึ่งต่างจากธุรกิจพวกค้าปลีกที่ asset ที่ได้มานำไปลงทุนต่อ เป็น inventory กับ account receivable ซึ่งเมื่อหยุดกิจการ cash จะท่วมบริษัท และจะกลายเป็นของผู้ถือหุ้นทั้งหมด

และทำไม บริษัทประกันชีวิตในไทย ถึง trade กันที่ PBV สูงมากเมื่อเทียบกับ ธุรกิจประกันชีวิตเหมือนกันในต่างประเทศ ซึ่ง trade กันประมาณ 2 เท่า?

Skyforever wrote:
อย่างที่ผมอธิบายไว้แล้วว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจธุรกิจประกันชีวิต และมองภาพเทียบกับบริษัทอื่นๆทั่วไป คือจะมองที่ BV

การที่เรามอง BV ของบริษัทประกันชีวิตก็เหมือนกับการที่เราหามูลค่าของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า โดยดูเฉพาะเงินในมือ ณ ปัจจุบันเท่านั้น และตีมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าเป็น 0 ไป ถ้าเราคิดมูลค่าของกองทุนอสังหาริมทรัพย์โดยไม่คิดสิทธิการเช่า แล้วเราจะพบว่ามูลค่ากองทุนจะเกือบเป็น 0 มีมูลค่าน้อยมากๆ แต่ที่คนยอมซื้อแพงกว่า NAV เพราะมองถึงอนาคต และรู้ว่าผลรวมของ NAV กับ ปันผล จะโตไม่น้อยกว่าปีละ 10% ทุกปี เช่นกัน การที่เรามอง BV ของบริษัทประกันชีวิตเป็นการเลือกมองแค่ปัจจุบันและตัดมูลค่าของกรมธรรม์ที่ขายได้ไปแล้วออกหมด

EV นั้นคำนวณโดยหักหนี้สิน และค่าใช้จ่ายในอนาคตออกหมดแล้ว ดังนั้นเราไม่ต้องกังวลว่าในที่สุดบริษัทจะไม่มีอะไรเหลือ เพราะต้องนำไปจ่ายหนี้ จ่ายผลตอบแทนคืนผู้เอาประกันจนหมด

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ
EV ในปัจจุบันก็คือ BV ในอนาคตที่มีการคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบันนั่นเอง โดยคลอบคลุมเฉพาะกรมธรรม์ที่ขายไปแล้วเท่านั้น หักค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆออกหมดแล้ว กลายเป็นมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ (ในทางทฤฎีนะครับ เพราะในความเป็นจริงตัวแปรหลายๆอย่างในการคำนวณอาจไม่ตรงกับที่ตั้งข้อสมมติฐานไว้ก็ได้) นั่นหมายความว่าในอนาคตข้างหน้าเมื่อ BLA เลิกขายกรมธรรม์และปิดกิจการ วันนั้น BV จะวิ่งเข้ามาเท่า EV ครับ มีเงินสดเหลือคืนให้ผู้ถือหุ้นมากพอแน่นอน

ปัจจุบัน BLA มีการเทรดที่ P/EV ประมาณ 2 เท่าซึ่งถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านก็อยู่ในเกณฑ์สูงอันดับต้นๆ ซึ่งคงเป็นเพราะความคาดหวังต่อการเติบโตที่สูงของ VNB นั่นเอง ส่วนบริษัทประกันชีวิตในต่างประเทศที่ P/EV ต่ำๆ ก็มักจะเป็นบริษัทที่มีการเติบโตของ VNB และ EV ต่ำนั่นเองครับ

ในประเทศไทยบริษัทประกันชีวิตที่มาจากต่างชาติเอาตัวแทบไม่รอดเยอะแยะไป ที่จะรอดและเติบโตได้ก็เฉพาะที่ขายผ่านธนาคารเท่านั้น และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ BLA และบริษัทประกันชีวิตอื่นๆในไทยที่ขายผ่านธนาคารเติบโตเป็นอันดับต้นๆของภูมิภาค อย่างที่คุณ Tarzann บอกไว้ว่าการขายประกันชีวิตผ่านธนาคารก็เหมือน Modern trade ในโลกค้าปลีก

อีกเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตบ้านเราเติบโตโดดเด่นเมื่อเทียบกับต่างประเทศก็คือการส่งเสริมของรัฐบาล และการนำเบี้ยไปลดหย่อนภาษีได้ เพราะเราคงไม่ปฏิเสธใช่มั้ยครับว่าคนจำนวนมากทำประกันชีวิตส่วนหนึ่งเพื่อหวังลดหย่อนภาษี

randomwalk wrote:
การเติบโตของสินทรัพย์การลงทุนจะมีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับเบี้ยรับประกันในแต่ละปีใช่ไหมครับ
 
Skyforever wrote:
ใช่ครับ
 
randomwalk wrote:
และการเติบโตของกำไร และ ev จะมีอัตราเร่งมากกว่าการเติบโตของสินทรัพย์ลงทุนและเบี้ยรับประกัน เนื่องจากการประฟยัดขนาดใช่ไหมครับ
 
Skyforever wrote:
ไม่จำเป็นครับ เพราะ EV นั้นคำนวณรายรับล่วงหน้าไปถึงอนาคตสำหรับกรมธรรม์ปัจจุบัน และรวมไปถึงผลตอบแทนจากเงินลงทุนในอนาคตแล้ว ดังนั้นการเติบโตของ EV จึงไม่จำเป็นต้องมากกว่าการเติบโตของสินทรัพย์ลงทุน การเติบโตของ EV ขึ้นกับหลายอย่าง แต่หลักๆคือขึ้นกับปัจจัยดังนี้
1. ปกติ EV จะเติบโตปีละประมาณ 10% ตาม Discount rate บนสมมติฐานว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่คำนวณ และไม่มีการจ่ายปันผลออกไป
2. EV จะเติบโตมากขึ้นได้ถ้ามีเบี้ยใหม่เข้ามา หรือพูดง่ายๆก็คือ EV จะโตมากกว่า 10% ได้เพราะ VNB ซึ่งหากกรมธรรม์ใหม่เข้ามาเยอะ เติบโตดี และมีกำไรดีก็จะทำให้ EV เติบโตสูงๆได้
3. ในกรณีที่แนวโน้มไม่เป็นไปตามที่คำนวณไว้ตอนแรก เช่นตอนแรกถ้าเราคำนวณที่ ROI 5% หากในความเป็นจริงเราทำได้น้อยกว่า หรือมากกว่า และมีแนวโน้ม ROI เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร ก็จะทำให้มูลค่า EV ที่คำนวณใหม่อาจจะมากขึ้นหรือลดลงจากเดิมได้ ดังนั้นหาก ROI โตขึ้นจากที่คำนวณไว้ EV ก็จะโตเพิ่มขึ้นได้ (ซึ่งข้อนี้ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจจะลดลงได้ถ้าพันธบัตรให้ดอกเบี้ยลดลงต่อเนื่องยาวนาน)

 
 
 
 
 

2 ความคิดเห็น:

  1. ผมอยากทราบว่า ค่า CAR(Capital Adequacy Ratio) คืออะไรหรอครับ ใช่อัตราส่วนสินทรัพย์ลงทุนต่อเงินสำรองประกันภัยรึเปล่า แล้วเราสามารถคำนวณได้เองหรือไม่ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. หลังจากแต่งงานก็ยุ่งๆ ไม่ได้เข้าเวปบอร์ดกับบล็อกนี้สักเท่าไหร่ เพิ่งเห็นคำถาม ผมขอตอบตามที่ผมเคยโพสต์ไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ในเวป Thaivi นะครับ ซึ่งมีดังนี้
      http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=4&t=33448&p=961368#p961368

      ก่อนอื่นต้องรู้จักกองทุน 2 อย่างก่อนคือ
      1. เงินกองทุน (TCA) คือ ทุนที่มีอยู่จริง เกิดจากสินทรัพย์หักออกด้วยหนี้สินในงบดุล
      2. เงินกองทุนตามความเสี่ยง (TCR) คือเงินกองทุนที่ควรจะต้องมีภายใต้ความเสี่ยงของบริษัท

      สมัยก่อนนั้นบริษัทประกันชีวิตจะต้องมีกองทุนขั้นต่อ 50 ล้านบาท และต้องไม่น้อยกว่า 2% ของเงินสำรองประกันชีวิต ซึ่งครอบคลุมเฉพาะความเสี่ยงด้านประกันภัย แต่ในความเป็นจริงยังมีความเสี่ยงอื่นๆอีกเช่น ความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงราคาและอัตราดอกเบี้ยของเงินลงทุน ซึ่งไม่สะท้อนความเสี่ยงของการนำเงินไปลงทุน

      ดังนั้นจึงออกกฎเกณฑ์ใหม่ให้มีการกำหนดเงินกองทุนขึ้นต่ำที่ต้องดำรงไว้หรือ RBC โดยจะคำนวณความเสี่ยงในหลายๆด้านมากำหนดขนาดของกองทุนที่ต้องดำรงไว้

      ซึ่งการเปลี่ยนแปลงมาใช้วิธีใหม่นี้ สินทรัพย์จะเปลี่ยนจากการใช้ Book Value มาเป็นราคาตลาด ส่วนทางด้านหนี้สินนั้น เงินสำรองจะเปลี่ยนจากการคำนวณโดย Net Premium Valuation (NPV) มาเป็น Gross Premium Valuation (GPV) ซึ่งการใช้ GPV นี้เป็นการดูกระแสเงินสด (Cash Flow Projection) ของบริษัทโดยต้องอยู่บนสมมติฐานที่สมเหตุสมผลตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย

      ซึ่งการดูว่ากองทุนที่มีอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่จะดูจาก CAR ซึ่งมีสูตรคือ

      CAR (Capital Adequacy Ratio) = Total capital available (TCA) / Total capital require (TCR)
      หรือก็คือสัดส่วนระหว่างทุนที่มีอยู่กับกองทุนขั้นต่ำที่ต้องดำรงไว้ตามความเสี่ยงนั่นเอง

      ซึ่งเริ่มบังคับเอา RBC มาใช้ตั้งแต่ปีก่อนแล้วโดยกำหนดให้ปีก่อนและปีนี้มี CAR ไม่ต่ำกว่า 125% และหลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 140% โดยปัจจุบัน BLA มี CAR ประมาณ 200% ครับ

      รายละเอียดดูในนี้นะครับ http://www.oic.or.th/upload/news/downlo ... 9267-2.pdf


      รายละเอียดสำหรับศึกษาเพิ่มเติม
      http://www.oic.or.th/downloads/rbc/news ... apital.pdf
      http://www.oic.or.th/upload/news/downlo ... 9267-2.pdf
      http://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j& ... qA&cad=rja
      http://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j& ... Cg&cad=rja

      ลบ