วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

ปลดล็อคผลตอบแทนให้สูงขึ้นด้วยการก้าวข้ามกับดักบนเส้นทาง VI (สำหรับคนพอร์ตไม่ใหญ่ ไม่ถึง 9 หลัก)

การลงทุนตามแนวทาง VI ได้พลิกชีวิตการลงทุนของผมมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ชีวิตการลงทุนดีขึ้นแต่ไม่ถึงกับสุดยอด ผมเข้ามาติดกับดักซ้ำแล้วซ้ำอีกบนเส้นทางนี้ถึง 5 ปี จึงจะสามารถก้าวข้ามมาได้ และผลตอบแทนสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกมหาศาล ผมไม่อยากให้คนอื่นๆต้องมาเสียเวลาติดกับดักบนเส้นทางนี้เหมือนผม ผมจึงอยากแบ่งปันแนวคิดให้เพื่อนๆพี่น้องนักลงทุนได้อ่านและพิจารณาดูว่า เนื้อหาส่วนใดที่อาจจะเป็นประโยชน์จะได้นำไปประยุกต์ใช้ได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยหรือคิดว่าไม่เป็นประโยชน์ก็สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิด หรือมองข้ามไปได้นะครับ
(ปล. ผมลงทุนโดยไม่ใช้กราฟในการซื้อหรือขายหุ้นเลยนะครับ และไม่ได้เล่น Tfex หรือ ตลาด Future/Option เลย ใช้ปัจจัยพื้นฐานในการเลือกซื้อหุ้นอย่างเดียว)

ผมเริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นครั้งแรกในปี 2002 แต่เล่นหุ้นแบบมั่วๆเป็นเวลาถึง 4 ปี จนกระทั่งหมดตัวในปี 2005 แถมมีหนี้ติดตัวมาอีก ชีวิตก็ตกต่ำลงมาก ใช้ชีวิตแบบเบลอๆ เรื่องอนาคตเรื่องความหวังความฝันก็ดับมืด เลิกคิดไปเลย วันๆจดจ่อแต่กับหน้าที่และงานที่ต้องทำ จนกระทั่งปีเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เห็นราคาหุ้นลงมามาก จึงได้ตัดสินใจเอาเงินเก็บทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นบาทกลับเข้ามาในตลาดหุ้นอีกครั้ง โดยเริ่มศึกษาหุ้นจริงจัง และได้รู้จักกับ VI เป็นครั้งแรกในชีวิต อ่านหนังสือของ ดร.นิเวศน์ และหนังสือแปลเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์ มาจำนวนหลายสิบเล่ม จนซึมซับวิธีคิดเข้ามาเป็น Mindset การลงทุนของตัวเอง ผลที่ได้คือ สามารถลงทุนสร้างผลตอบแทนได้ดีขึ้นมาก ชนะตลาดปีละ 12-18% ต่อเนื่อง 3 ปีติด คือปี 2009-2011 หลังจากนั้นเมื่อมีความมั่นใจมากขึ้นจึงเริ่มใช้บัญชีมาร์จิ้นกู้เงินมาซื้อหุ้น แต่กลับแพ้ตลาดต่อเนื่อง 2 ปี คือปี 2012-2013 จึงเลิกใช้บัญชีมาร์จิ้นอีกเลย และกลับมา ทบทวนว่าเราผิดพลาดตรงไหน เมื่อดูนักลงทุนเก่งๆหลายๆคนก็สามารถสร้างผลตอบแทนมากๆได้โดยไม่ใช้มาร์จิ้น และศึกษาวิธีคิดของคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ นำมาปรับเปลี่ยน mindset ใหม่อีกครั้ง หลังจากนั้น ชีวิตการลงทุนผมก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะผมสามารถสร้างผลตอบแทนได้เกิน 100% ได้ต่อเนื่องกันถึงปัจจุบัน คือปี 2014-2016 โดยปี 2014 ได้ผลกำไรเกือบ 500% และผมอยากจะแชร์ให้ฟังว่า ทำไมในช่วงแรกที่ผมเดินตามเส้นทาง VI ถึงได้ผลตอบแทนที่ดีพอใช้เท่านั้น ไม่สามารถทำผลตอบแทนที่ดีมากๆได้ ผมติดกับดักความคิด VI บางอย่าง ทันทีที่หลุดจากกับดักความคิดเหล่านั้น ชีวิตการลงทุนของผมก็เปลี่ยนไปทันที กับดักเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันครับ

กับดักความคิดที่ 1: "อย่าโลภ อย่าคาดหวังสูง การลงทุนแบบ VI คาดหวังผลตอบแทนอย่างมากแค่ 15-20% ต่อปีก็เก่งแล้ว ขนาดคนเก่งๆระดับโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังทำได้แค่ 19.7% จากปี 1965 ถึงปี 2012 เท่านั้นเอง"
ความจริงคือ: สมัยก่อนผมก็มีความคิดอนุรักษ์นิยมเช่นนี้ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ในระหว่างประชุมผู้ถือหุ้นของ Berkshire Hathaway วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า เขารู้จักเป็นการส่วนตัวกับคน 6 คนที่สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้ 50% ต่อปี ด้วยเงินลงทุนที่ไม่มากนัก และถ้าย้อนไปในปี 1999 เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขารับประกันว่าเขาสามารถทำผลตอบแทนได้ถึง 50% ต่อปีแน่นอนหากเขามีเงินทุนเพียง 1 ล้านเหรียญเท่านั้น ตามคำพูดนี้

“If I was running $1 million today, or $10 million for that matter, I’d be fully invested. Anyone who says that size does not hurt investment performance is selling. The highest rates of return I’ve ever achieved were in the 1950s. I killed the Dow. You ought to see the numbers. But I was investing peanuts then. It’s a huge structural advantage not to have a lot of money. I think I could make you 50% a year on $1 million. No, I know I could. I guarantee that.” 

แน่นอนเพราะในสมัยที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังมีพอร์ตไม่ใหญ่นัก ประมาณ 1 ล้านเหรียญ ในตอนที่ยังไม่ได้ตั้งบริษัทขึ้นมา ประมาณทศวรรษที่ 1950 เขาทำผลงานได้สูงถึง 60% ต่อปี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเปลี่ยนคือเปลี่ยนความคิด อย่าคิดหรือทำอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ในปัจจุบันนี้ แต่จงคิดเหมือน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในช่วงก่อนปี 2000 หรือถ้ามามองในไทย หลายปีก่อนเคยได้ยิน พี่โจ อนุรักษ์ บุญแสวง ให้สัมภาษณ์ว่าสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่า 50% ต่อเนื่องกันนานเกือบสิบปี แสดงว่าการคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนแนว VI ให้ได้มากกว่า 50% ต่อปีในขณะที่พอร์ตของเรายังไม่ใหญ่ขนาดหลายร้อยล้าน หลายพันล้าน ย่อมเป็นเรื่องที่ควรทำ และเป็นไปได้



อ้างอิง
http://basehitinvesting.com/how-buffett-made-50-per-year/
http://www.thebuffett.com/performance.html#.WH2gQ1N96Uk
http://www.businessinsider.com/warren-buffett-berkshire-hathaway-vs-sp-500-2016-2

กับดักความคิดที่ 2: "ถือหุ้นเหมือนเป็นเจ้าของกิจการ ถือตราบที่บริษัทยังดีอยู่ (รักหุ้น)"
ความจริงคือ: แนวคิดนี้ฝังในหัวผมตลอด 5 ปีแรกของการลงทุนในเส้นทาง VI ผมเองเคยเป็นคนที่รักหุ้นมาก เคยศึกษาทุ่มเทเจาะลึกจนเข้าใจกิจการหลายๆอย่างในเชิงลึก รู้สึกมั่นใจและรู้สึกผูกพันกับบริษัทนั้นๆโดยไม่รู้ตัว และคิดไบอัสว่ารู้จักบริษัทนั้นๆดี พยายามจะถือหุ้นกับบริษัทไปนานๆโดยไม่ได้คิดว่ามีหุ้นตัวอื่นที่ดีกว่า ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะการทำแบบนี้ทำให้ข้อได้เปรียบของการเป็นนักลงทุนที่แตกต่างจากการเป็นเจ้าของกิจการนั้นหมดไป และทำให้ข้อได้เปรียบของการเป็นรายย่อยหมดไปด้วยเช่นกัน ในขณะที่เรามีพอร์ตไม่ใหญ่นัก การซื้อขายหุ้นทำได้ง่ายและเร็ว การหาหุ้นหาบริษัทใหม่ๆที่น่าลงทุนกว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่เสมอๆ เราจะต้องคิดว่าอาจจะมีบางบริษัทที่ดีกว่าหุ้นที่เราถือแต่เรายังค้นหาไม่เจออยู่เสมอ ทำให้เราพยายามหาหุ้นใหม่ๆ และมีการปรับพอร์ตเปลี่ยนหุ้นเป็นระยะ เพื่อให้ได้บริษัทที่จะสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้แก่พอร์ตของเรา

กับดักความคิดที่ 3: "ผลตอบแทนสูงๆต้องแลกมาด้วยการเสี่ยงมากขึ้น หุ้นตัวเล็กๆที่ขึ้นแรงๆเป็นหุ้นปั่นทั้งนั้น"
ความจริงคือ: ความคิดแบบนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการลงทุนอย่างมาก ผมเองก็เคยเป็น ทำให้เราตีกรอบตัวเองว่าห้ามมองหาหุ้นที่ผลตอบแทนสูงๆ ทุกครั้งที่เห็นหุ้นบางตัวขึ้นแรงๆต่อเนื่องเราก็จะเหมาว่าเป็นหุ้นปั่นไปหมด ทั้งที่ความจริงไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป ในตลาดหุ้นทุกวันนี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา หุ้นบางตัวปัจจัยพื้นฐานดีขึ้นมาก บางตัวคนเพิ่งจะมองเห็นเข้าใจพื้นฐานที่ดีของบริษัท ก็เข้ามาซื้อพร้อมๆกันทำให้ราคาขึ้นเร็ว ผมเองยังเจอหุ้นที่ราคาไม่สมเหตุสมผลอยู่เป็นระยะ ดังนั้นเราไม่ควรจำกัดตีกรอบความคิดตัวเองแคบๆ เราควรเปิดกว้างทางความคิด และพร้อมจะศึกษาค้นหาเหตุผลว่าทำไมหุ้นเหล่านั้นถึงปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง

เมื่อเราเข้าใจความจริง 3 ข้อนี้แล้ว ความคิดและใจของเราจะเปิดรับมากขึ้น เราจะพยายามศึกษาหาคำตอบ หาบริษัทที่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงๆให้เรามากขึ้น แน่นอนว่าไม่ง่าย แต่มีอยู่จริง แต่ถ้าเรายังไม่ปรับเปลี่ยนความคิด ใจเราก็จะไม่เปิดรับ เราจะปฏิเสธทุกๆโอกาส ทุกๆหุ้นที่อาจจะให้ผลตอบแทนสูงมากๆ ที่เข้ามาในชีวิตของเรา ดังนั้นเริ่มต้นที่วิธีคิดก่อน ส่วนวิธการนั้นไม่ใช่เรื่องยาก มีคนสอนกันอยู่มากมาย

วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สรุปผลตอบแทนและบทเรียนจากการลงทุนปี 2016

สรุปผลตอบแทนและบทเรียนจากการลงทุนปี 2016

SET เริ่มต้นปีที่ 1288.02 จุด และสิ้นสุดปีที่ 1542.94 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 254.92 จุด หรือ 19.8% แต่ถ้าคิดรวมปันผล คือดูผลตอบแทนของ SET TRI จะได้ผลตอบแทนประมาณ 24% ถือว่าเป็นปีที่ดีปีหนึ่งสำหรับตลาดหุ้นไทยเลยทีเดียว

สำหรับพอร์ตการลงทุนของตัวผมเองปีนี้ได้ผลตอบแทน 142% ถือว่าเป็นปีที่ดีมากๆอีกปีหนึ่ง และเป็นปีที่ทำสถิติสูงสุดเป็นอันดับสองของชีวิตการลงทุนรองจากปี 2014 โดยผลตอบแทนสะสมตลอด 8 ปีที่ผ่านมา (หลังจากศึกษาการลงทุนตามแนวทาง VI อย่างจริงจัง) อยู่ที่ 13,029% หรือก็คือ 130 เท่าจากเงินต้นในกรณีที่คิดว่าไม่มีการเติมเงินหรือถอนเงินออกจากพอร์ต แต่ในความเป็นจริงนั้นเงินถูกถอนออกมาใช้ค่อนข้างมากเกินกว่าเงินทุนไปมากแล้ว โดยเฉพาะใน 2-3 ปีหลังที่ลาออกจากงานประจำมาเป็นพ่อบ้านเลี้ยงลูกและลงทุนเพียงอย่างเดียว





ถึงแม้ปีนี้จะดูเป็นปีที่ดี แต่ในความเป็นจริงหากดูกราฟผลตอบแทนในแต่ละช่วงเวลาของปีนี้จะพบว่ามีความผันผวนไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านๆมาเลย โดยมีช่วงที่เกิดการลดลงของผลตอบแทนค่อนข้างมากอยู่ 2 ช่วงคือ ช่วงเดือนเมษายน ที่ผลตอบแทนลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงเกิดจากการที่มั่นใจในหุ้นที่ลงทุนมากจนเกินไป เข้าไปซื้อในสัดส่วนค่อนข้างมากโดยหุ้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผิดคาดในทางไม่ดี ราคาหุ้นก็ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วจนขายออกไม่ทัน ทำให้กำไรที่ได้จากหุ้นตัวนั้นที่ได้มาก่อนหน้าแทบไม่เหลือเลย และอีกช่วงหนึ่งคือเดือนกันยายนถึงตุลาคม ตอนนั้นได้ขายหุ้นที่ค่อนข้างดีออกไปถือเงินสดค่อนข้างมากเพราะกลัวข่าวที่ดูเหมือนจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายเกิดขึ้น แต่การขายครั้งนั้นดันไปขายหลังจากหุ้นปรับลงมาเยอะแล้ว แถมยังเลือกที่จะแทงซื้อ PUT DW บางส่วน เพราะคาดว่าตลาดจะลงแรง แต่ผลกลับตรงกันข้าม ทันทีที่ข่าวจริงออก หุ้นทั้งตลาดกลับปรับตัวขึ้นแรง ยังดีที่วันถัดมาตัดสินใจกลับมาซื้อหุ้นคืนในราคาที่แพงขึ้น และขาย DW ไปหมด บทเรียนสำคัญ 2 ข้อที่ได้ในปีนี้คือ
1. สภาพคล่องเริ่มเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาแล้ว เพราะพอร์ตเริ่มใหญ่ขึ้น จะลงทุนตัวเล็กๆในสัดส่วนที่เยอะๆของพอร์ตแบบ 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว หากเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมาจะได้ออกได้โดยไม่เจ็บตัวมากนัก
2. อย่าคาดการณ์สภาวะตลาด เก่งแค่ไหน มั่นใจแค่ไหน ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้แม่นยำได้ ให้ยึดราคาและปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่เราลงทุนเป็นสำคัญ

ภาพรวมปีนี้กำไรส่วนใหญ่มาจากหุ้น 2-3 ตัวเท่านั้น โดยพระเอกของปีนี้คือ GL และพระรองคือ ACAP ทั้ง 2 ตัวนี้เริ่มต้นรู้จักจากเพื่อนๆนักลงทุนด้วยกัน ที่มีโอกาสมาแชร์มาคุยกันในไลน์ ซึ่งจริงๆก็มีคุยกันหลายตัว แต่ 2 ตัวนี้เข้าตาและลงทุนในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากของพอร์ตทำให้ผลตอบแทนออกมาค่อนข้างดี

สำหรับปี 2017 นั้น คิดว่าเป็นปีที่ค่อนข้างยาก และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุนบ้างหากคิดจะลงทุนในหุ้นขนาดเล็กๆต่อไป จากเดิมทุ่มหนักๆแค่ 1-2 ตัวได้ ก็คงต้องเปลี่ยนมา กระจายหุ้นมากขึ้น ถ้าหาหุ้นไม่ได้ก็ถือเงินสดไว้ก่อน

วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สรุปผลงานปี 58 ครบรอบ 7 ปี การลงทุนแบบเน้นคุณค่า

นับตั้งแต่เริ่มเข้าตลาดหุ้นมาในปี 2002 ถึงวันนี้ก็เป็นระยะเวลา 14 ปีแล้ว ใน 7 ปีแรกนั้นถือว่าเป็น 7 ปีที่เลวร้าย เล่นหุ้นแบบการพนันไม่มีความรู้จนหมดตัวและเป็นหนี้ แต่ใน 7 ปีต่อมา (ตั้งแต่ปี 2009-2015) หลังจากที่รู้จักกับคำว่า VI ชีวิตก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก เปลี่ยนจาก "เล่นหุ้น" เป็น "ลงทุนในหุ้น" โดยคิดเสมอว่า ซื้อหุ้นก็เหมือนลงทุนทำธุรกิจ มองหาส่วนเผื่อความปลอดภัยในการซื้อหุ้น ทำให้ผลตอบแทนใน 7 ปีหลังค่อนข้างดี แต่นับจากนี้ไปคงไม่ง่ายแล้ว เพราะในเวลานี้สภาวะเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างแย่ มีแต่ข่าวร้ายมากมาย และมีแนวโน้มจะแย่ไปอีกนาน ดังนั้น 7 ปีหลังจากนี้ไปอาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้ดีได้เหมือนเดิม

ในสิ้นปี 2015 นี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทบทวนวิธีการลงทุน ผลงานของตัวเองในตลอด 7 ปีที่ผ่านมาว่ามีข้อผิดพลาดอะไรบ้าง และควรจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างไรหรือไม่ เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับปี 2559 ต่อไป

จบปี 2015 SET Index ปิดที่ 1,288.02 จุด ลดลงไป 209.65 จุดจากสิ้นปี 2014 ที่อยู่ที่ 1,497.67 จุด หรือลดลงไปประมาณ 14% แต่ถ้าคิดรวมเงินปันผลโดย (ดูจาก TRI) จะพบว่าลดลงไป 12% ขณะที่พอร์ตการลงทุนของผมปีนี้ให้ผลตอบแทน +134% (ชนะตลาด 14ุ6%) ซึ่งถือว่าค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ (แต่ขนาดของพอร์ตหุ้นเติบโตขึ้นเพียง 113% จากสิ้นปีก่อนเพราะมีการดึงเงินออกมาใช้ระหว่างปี)

มูลค่าพอร์ตเทียบกับดัชนี SET TRI โดยปรับให้เริ่มต้นเท่ากันที่ 100 ในสิ้นปี 2014

ในปี 2015 นี้ถือหุ้น 100% ตลอดเวลา มีขายหุ้นเอาเงินมาใช้ทุกๆเดือนเนื่องจากไม่ได้ทำงานประจำแล้ว ในปีนี้มีการปรับพอร์ตใหญ่ๆ 3 ครั้ง คือปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปลายเดือนตุลาคม และสัปดาห์สุดท้ายของปี โดยช่วงเวลาส่วนใหญ่จะถือหุ้นหนักๆเพียงตัวเดียว (ตัวเดียวมากกว่า 90% ของพอร์ต) แต่มีบางช่วงเวลาสั้นๆที่กระจายไปลงทุนเท่าๆกัน 3-4 ตัว เหมือนเป็นจังหวะคั่นระหว่างที่ยังหาหุ้นที่ชอบมากๆไม่เจอ

กำไรส่วนใหญ่ในปีนี้ได้มาจากการถือหุ้น IRCP ได้กำไรมาเกือบ 100% เหตุผลที่เข้าซื้อ IRCP ในตอนนั้นแบบหมดพอร์ต คือเห็นบริษัทแจ้งข่าวกับตลาดว่าจะทำโรงไฟฟ้าพลังงานจะขยะ รู้สึกสะดุดตาจึงเข้าไปศึกษาดู เห็นว่าผู้บริหารมีโปรเจ็คค่อนข้างเยอะ มีความมั่นใจ รวมทั้งงบใน 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ค่อนข้างดี ผู้บริหารตั้งเป้าค่อนข้างท้าทาย คือ โต 30% ต่อปีต่อเนื่อง 2-3 ปีข้างหน้า ตอนนั้นดูแล้วน่าจะมีความเป็นไปได้เพราะรัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับ Digital economy บวกกับที่ผลงานของบริษัทที่ผ่านๆมาก็มักจะทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ผู้บริหารตั้งไว้ และที่สำคัญคือ P/E ต่ำมาก ไม่ถึง 10 เท่า ตอนนั้นเข้าไปซื้อและถือหุ้นบริษัทนี้ประมาณ 2 เดือนกว่าๆจึงขาย สาเหตุที่ขายคือราคาหุ้นขึ้นไปถึงเป้าหมายในใจแล้ว คือ P/E ประมาณ 20 เท่า จึงตัดสินใจทยอยขายออกจนหมด

หลังจากนั้นจึงเข้าซื้อหุ้น SIMAT ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่าบริษัทกำลังจะ Turnaround และเข้าสู่โหมดการเติบโต แต่การเข้าซื้อหุ้นของบริษัทเล็กๆครั้งนี้เริ่มไม่ง่ายเหมือนเดิมเนื่องจากพอร์ตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น กว่าจะซื้อจนครบก็ใช้เวลาหลายวัน หลังจากนั้นไม่ถึง 2 เดือนราคาหุ้นก็ขึ้นไปมากกว่า 40% จากราคาที่ซื้อ แต่ก็ไม่ได้ขายออกมา คิดแต่เพียงว่าจะรอให้ถึงเวลาที่บริษัท Turnaround สำเร็จในปี 2015 นี้ ตามการคาดการณ์ของผู้บริหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลประกอบการออกมาแย่กว่าที่คิด แนวโน้มการ Turnaround คาดว่าจะเลื่อนช้าออกไปอีกกว่าครึ่งปี การแข่งขันในธุรกิจที่ดูจะรุนแรงขึ้น บวกกับที่สภาวะตลาดหุ้นย่ำแย่ ราคาหุ้นหลายๆตัวลงมามากจนทำให้เชื่อว่าจะมี Upside มากกว่า จึงได้ตัดสินใจปรับพอร์ต ทยอยขายหุ้นเดิมออกไปบางส่วนในราคาขาดทุนเล็กน้อย 2%-3% และแบ่งเงินกระจายออกไปถือหุ้นที่น่าสนใจอีก 3 บริษัท คือ BKD-W1 LIT TPOLY ต่อมาราคาหุ้นทั้ง 3 บริษัทปรับตัวขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วงสั้นๆ พร้อมๆกับที่ไปเจอหุ้น GL ซึ่งบริษัทนี้น่าจะสามารถเติบโต ได้ในระยะยาวจากการขยายออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ย่ำแย่มากนัก ถึงแม้ราคาที่เข้าไปซื้อจะไม่ได้ถูกนัก (คาดว่าด้วยราคาที่ซื้อ คำนวณ Forward P/E สิ้นปี 2015 อยู่ที่ 30-32 เท่า) แต่เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตที่สูงมากๆในอนาคตและความแน่นอนในธุรกิจแล้วก็พอยอมรับได้ เชื่อว่า P/E ในปีหน้าจะลดลงค่อนข้างจากกำไรที่โตขึ้น บวกกับที่ GL-W3 กำลังจะหมดอายุ มีคนเทขายออกมาเรื่อยๆ กดดันหุ้นแม่ และมี gap ระหว่างแม่กับลูกค่อนข้างมาก จึงได้ทยอยซื้อ GL-W3 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนจะหมดอายุ เพื่อแปลงเป็นหุ้นแม่ โดยได้ขายหุ้นที่มีอยู่ 4 ตัวนั้น ออกมาเข้าบริษัทนี้บริษัทเดียวเกือบ 100% ของพอร์ต หลังจากนั้นราคาหุ้น GL ก็สวิงขึ้นลงแรง มาจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของปีด้วยกำไรประมาณ 23% ซึ่งถือว่ามาเร็วกว่าที่คาด จึงได้ตัดสินใจขายหุ้น GL ออกมาทั้งหมดโดยถือเงินสดครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งได้เข้าไปซื้อหุ้นขนาดเล็กบริษัทหนึ่งที่น่าจะมี upside มากกว่า (ในวันที่ขาย GL ออกไปนั้น ราคาขายหุ้น GL คาดว่ามี forward PE ปี 2015 ประมาณ 40-42 เท่า P/BV 3.5 เท่า และ P/E ปี 2016 ที่ประมาณ 28-30 เท่า)

ผลตอบแทนของพอร์ตในแต่ละปีเทียบกับผลตอบแทนของ SET TRI

กระแสเงินสด เติมเข้า-ถอนออก จากพอร์ตหุ้น

เมื่อได้มองย้อนกลับไปตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้สูงมากเหมือนนักลงทุนที่เก่งๆหลายๆคน แต่ก็ถือว่าผลงานเป็นที่น่าพอใจ ผลตอบแทนสะสมใน 7 ปีนี้อยู่ที่ 5,329% หรือคิดเป็นกำไร 53.29 เท่าจากเงินทุน แต่มูลค่าพอร์ตจริงโตน้อยกว่านี้เพราะมีการดึงเงินออกไปใช้จ่าย ถ้าดูจากกราฟจะเห็นว่ามีการนำเงินเดือนมาเติมเงินลงไปแค่ 2 ปีแรกเท่านั้น ปีที่ 3 แทบจะไม่มีการเติมเงินเข้าไปเลย และปีต่อๆมาก็ค่อยๆดึงเงินออกมามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่กลางปี 2014 เป็นต้นมาได้ลาออกจากงานประจำด้วยความจำเป็นบางอย่าง ทำให้ต้องขายหุ้นออกมาใช้จ่ายทุกๆเดือน

ก้าวแรกที่เริ่มเดินเข้ามาในเส้นทางนี้ ตั้งเป้าไว้แค่ 18% ต่อปี นับถึงตอนนี้ก็ถือว่าทะลุเป้า แต่ก็คงต้องดูกันยาวๆต่อไปเพราะที่ผ่านมาสภาวะตลาดค่อนข้างเอื้ออำนวย ในเส้นทางการลงทุนที่ผ่านมาผมจะเน้นเฉพาะปัจจัยพื้นฐาน (ไม่สนใจกราฟ ไม่สนใจสัญญาณซื้อขายทางเทคนิกเลย ตัดสินใจซื้อขายจากการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมเทียบกับราคาตลาดเท่านั้น ส่วนจังหวะในการเข้าซื้อนั้นคือไม่มี เจอหุ้นถูกใจ มี Upside เยอะก็เคาะขวาเลย) พบว่าสามารถชนะตลาดได้ทั้งหมด 5 ปี และแพ้ตลาด 2 ปี โดยมีเพียงปีเดียวที่ขาดทุน คือปี 2013 ขาดทุนไปประมาณ 10% ซึ่งในปีแรกๆนั้นชนะตลาดประมาณ 12-18% สม่ำเสมอ หลังจากนั้นเริ่มคิดว่าตัวเองแน่ มั่นใจในตัวเองมากเกินไป ความโลภเริ่มมากขึ้น (ทั้งที่ใน 7 ปีที่เลวร้ายก่อนหน้านี้เคยหมดตัวจากหุ้นมาแล้ว) จึงได้เริ่มกู้เงินโดยใช้บัญชีมาร์จิ้นในการซื้อหุ้นในปี 2012-2013 แต่ประกฏว่าใน 2 ปีที่ใช้บัญชีมาร์จิ้นนี้กลับเป็น 2 ปีที่แพ้ตลาด อาจจะเป็นเพราะมั่นใจจนเกินไป ประมาท ศึกษาน้อยลง ทำให้ผลตอบแทนแย่ลง หลังจากนั้นจึงเลิกใช้มาร์จิ้นในการซื้อหุ้น โดยพอร์ตกลับมาชนะตลาด และเติบโตแบบก้าวกระโดดในปี 2014 มีกำไรเกือบ 500% และยังกำไรต่อเนื่องในปี 2015

เมื่อลองสังเกตดูก็พบว่าใน 7 ปีของการลงทุนนี้สามารถแบ่งวิธีการลงทุนที่แตกต่างกันได้เป็น 3 ช่วงเวลาใหญ่ๆคือ

ช่วงที่ 1 - ปี 2009-2011
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เริ่มต้นศึกษาอ่านหนังสือแนว VI การซื้อหุ้น (1 ล้านบาทแรกก็ได้ในช่วงนี้ กลางๆปี 2010) ครั้งแรกๆจะหาหุ้นที่ปันผลเยอะๆตอนที่ตลาดตกหนักๆ เช่น LPN ต่อมาจะเริ่มมองหาหุ้นเติบโต เช่น IRP หลังจากนั้นเริ่มมองหามองหาธุรกิจที่ดีเยี่ยม อยู่ในกระแส Megatrend หาบริษัทที่มั่นคงและเติบโตได้ในระยะยาวๆ อย่างน้อยก็ 15-20% ต่อปี หุ้นที่ลงทุนในช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจประกันชีวิต และโรงพยาบาล เช่น BLA SCBLIF KH CPN โดยใน 3 ปีนี้ได้กำไรมากที่สุดจากการถือ BLA รองลงมาคือ SCBLIF และมีขาดทุนบ้างนิดหน่อยจาก PSL เนื่องจากการคาดการณ์วัฏจักรการฟื้นตัวของธุรกิจเรือที่ผิดพลาด ช่วง 3 ปีนี้ถือหุ้นโดยเฉลี่ยประมาณครั้งละ 2-4 ตัว บางตัวถือ 2-3 เดือน บางตัวถือ 1-2 ปี

ช่วงที่ 2 - ปี 2012-2013
ช่วงเวลานี้เริ่มมั่นใจในตัวเองมากขึ้น โลภมากขึ้น ใช้เงินกู้จากบัญชีมาร์จิ้น แต่ก็ยังเน้นกลุ่มเดิมๆ โดยหุ้นที่ถือในช่วงนี้เช่น BCH BH BDMS BLA SCBLIF CPN MINT HMPRO BIGC KBANK BLAND ใน 2 ปีนี้ ได้กำไรจาก SCBLIF มากที่สุด รองๆลงมาก็ MINT BDMS CPN และ BLA ตามลำดับ แต่ขาดทุนหนักๆจากการเข้าไปซื้อ BLAND-W2 ตอนที่จะหมดอายุ เกินตัว ทำให้มีเงินแปลงได้ไม่ครบ ช่วง 2 ปีนี้ถือหุ้นโดยเฉลี่ยประมาณครั้งละ 3-5 ตัว และถือนานประมาณครั้งละ 2-3 เดือน

ช่วงที่ 3 - ปี 2014-2015
ช่วงนี้เริ่มต้นด้วยความระมัดระวังและอารมณ์ประมาณหมดหวังจากผลตอบแทนปี 2013 ที่ขาดทุน 10% เลิกใช้มาร์จิ้น และพยายามขยายขอบข่ายความรู้ของตัวเอง พยายามไม่จำกัดกรอบการลงทุนในหุ้นแค่กลุ่มเดิมๆ ทำให้เห็นโอกาสในหุ้นขนาดเล็กๆที่รายใหญ่และสถาบันไม่ค่อยสนใจเพราะสภาพคล่องน้อย แต่พื้นฐานบริษัทใช้ได้ และอัตราการเติบโตสูง ในช่วงนี้ถือหุ้นโดยเฉลี่ยครั้งละ 1-3 ตัว โดยเลือกหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูงๆ ราคายังไม่แพง เฉลี่ยแต่ละตัวจะถือประมาณ 3-6 เดือน หุ้นที่ถือในช่วงนี้เช่น BWG RCL BSM SOLAR IRCP SIMAT GL BKD TPOLY LIT

สำหรับปี 2559 นี้ คงจะหาเลือกหาหุ้นขนาดกลาง (ไม่อยู่ใน SET50) หรือเล็ก (อยู่ใน MAI) ต่อไป เพราะเชื่อว่าการที่หุ้นมีขนาดเล็ก ทำให้สถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ ไม่สนใจ สภาพคล่องน้อย เข้าไม่ได้ ทำให้เรามีโอกาสพบหุ้นที่ดี ราคายังไม่แพง แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าไปลงทุนตัวใหญ่ไม่ได้ ถ้าโอกาสมาก็เอาหมด โดยจะระวังเป็นพิเศษ เลือกหาบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ การอ่อนของค่าเงินบาท โดยต้องมีอัตราการเติบโตในอนาคตที่สูงอย่างน้อย 20-30% ต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า และคาดหวังราคาหุ้นที่มี Upside อย่างน้อย 30-50% ใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งหากไม่สามารถหาหุ้นที่ตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้ ก็อาจจะต้องศึกษาและแบ่งเงินไปลงทุนในต่างประเทศ

เนื่องจากผมมองการลงทุนเหมือนทำธุรกิจ ที่ผ่านมาจึงลงทุนเฉพาะในหุ้นและวอร์แรนต์ของหุ้นเท่านั้น ไม่เคยลงทุนใน Future หรือ Option หรือ Forex หรือ DW (ด้วยความไม่ชอบส่วนตัว เพราะเป็น zero sum game คือกินกันเอง ถ้าเรากำไร แปลว่าต้องมีคนอื่นขาดทุน) โดยหลักคิดคือ เลือกหาบริษัทที่จะเติบโตได้ในระยะยาว หาธุรกิจที่ดีแล้วเราก็เข้าไปมีหุ้นส่วนในธุรกิจนั้น ได้รับปันผล และเมื่อมูลค่าของธุรกิจมากขึ้น ราคาหุ้นก็จะสะท้อนออกมาสูงขึ้นด้วย การเลือกหาธุรกิจที่จะโตไปได้เรื่อยๆในระยะยาวนั้นเพื่อว่าจะสามารถถือหุ้นไปได้นานๆตราบที่ราคาหุ้นยังน้อยกว่ามูลค่าของบริษัทที่ประเมินได้ แต่ถ้าราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเร็วจนถึงมูลค่าของบริษัทที่ประเมินไว้ ผมก็จะขายหุ้นออกมา และเนื่องจากบริษัทที่เหล่านี้น่าจะเติบโตได้ยาวๆ คนที่มารับซื้อต่อจากผมก็มีโอกาสที่จะมีกำไรจากราคาหุ้นที่น่าเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาวตามผลประกอบการของบริษัท ยกเว้นหากพบว่าวิเคราะห์บริษัทผิดไป เมื่อรู้ตัว ผมจะขายหุ้นออกมาทันทีไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนอยู่ก็ตาม

สรุปข้อคิดเบื้องต้นที่ได้เรียนรู้จากการลงทุนในตลาดหุ้นตลอด 14 ปีที่ผ่านมา
1. พอร์ตเล็กมีโอกาสทำกำไรได้สูงกว่าพอร์ตใหญ่
2. ไม่ว่าจะ VI หรือเทคนิก จะเล่นสั้นหรือยาว ถ้าศึกษารู้จริงล้วนสามารถทำกำไรสูงๆจนเป็นอิสระทางการเงินได้ทั้งนั้น
3. ถ้าต้องการจะเป็นอิสระทางเวลา และสบายใจไม่ต้องเครียดทุกๆวัน ควรลงทุนระยะยาว มองที่มูลค่ากิจการไม่ใช่ราคา
4. การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) กับการถือหุ้นยาวไม่เหมือนกัน การติดดอยไม่เรียกว่าการลงทุนแบบ VI ถ้าพื้นฐานแย่ลงก็ไม่ควรกอดหุ้นไว้
5. อดีตที่สวยหรูของบริษัท ไม่ได้รับประกันว่าอนาคตจะต้องดีด้วย การติดตามการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจเสมอๆเป็นสิ่งจำเป็น
6. ไม่มีใครรู้จริง ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ราคาหุ้น สภาวะตลาด หรือแม้แต่ผลประกอบการได้อย่างแม่นยำทุกครั้งไป สิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ การเผื่อใจวางแผนเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินเป็นสิ่งจำเป็น
7. หุ้นขึ้นแรงๆมีทุกวัน อย่าไปไล่ซื้อ เรารวยได้โดยไม่จำเป็นต้องไปมีส่วนร่วมในหุ้นทุกตัวที่ขึ้นแรง
8. ไม่มีงานสัมนาไหนที่จะเปลี่ยนคนให้ลงทุนเก่งขึ้นได้จริงแบบทันทีทันใด ดังนั้นอย่าเสียเงินแพงๆไปอบรมสัมนาหุ้นเพื่อหวังรวยเร็ว
9. การลงทุนคือการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตร ไม่มี Short cut ไม่มีวิธีรวยเร็ว มีแต่ต้องทุ่มเทศึกษา สะสมความรู้และประสบการณ์เป็นเวลาหลายๆปี ผลตอบแทนที่ได้จะแปรผันตามความขยันทุ่มเทที่เราใส่ลงไป
10. การแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนนักลงทุนจะช่วยให้มีโอกาสพบบริษัทที่น่าสนใจมากขึ้น ดังนั้นควรจะหาโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการ หรือสัมนาฟรีบ้าง เพื่อเพิ่มความรู้และทำความรู้จักเพื่อนนักลงทุนใหม่ๆ
11. ภาพใหญ่ของธุรกิจสำคัญกว่าภาพเล็ก การเข้าไปจ้องมองระยะใกล้ๆในภาพเล็กเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้มองไม่เห็นภัยคุกคามที่กำลังจะมาถึง ตรงกันข้ามถ้ามองภาพใหญ่ออก ถึงภาพเล็กจะมองผิดไปบ้างก็ไม่ได้เสียหายนัก
12. ซื้อหุ้นคือซื้ออนาคต ถ้ามองอนาคตไม่ออกก็ไม่ควรซื้อ
13. หุ้นที่ขึ้นแรงๆมีทั้งหุ้นที่พื้นฐานดีและหุ้นที่พื้นฐานไม่ดี แต่ถ้าจะหาหุ้นที่ขึ้นแรงและยืนได้มั่นคงจะต้องมีพื้นฐานที่ดีรองรับ
14. หุ้นขนาดใหญ่ไม่ได้แปลว่าเป็นหุ้นพื้นฐานดี
15. หุ้นราคาต่ำบาทไม่ได้แปลว่าถูกกว่าหุ้นราคาหลักพัน ความถูกความแพงต้องเทียบราคาหุ้นกับมูลค่ากิจการที่ควรเป็น
16. จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดีต้องลงทุนในหุ้นเติบโต การลงทุนในหุ้นที่เน้นปันผลแต่กำไรในอนาคตไม่เติบโตจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้
17. หุ้นของกิจการที่ดี แข็งแกร่ง และเติบโตสูงๆ อาจจะให้ผลตอบแทนที่แย่ได้หากซื้อมาด้วยราคาที่แพง
18. ถึงแม้จะถือหุ้นครั้งละไม่กี่เดือน แต่ก็ต้องมองภาพอนาคต 2-3 ปีข้างหน้าให้ออก
19. อ่านบทวิเคราะห์ ไม่ต้องสนใจราคาเป้าหมาย ส่วนใหญ่เชื่อไม่ได้ ให้เลือกดูเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท และนำมาประเมินราคาหุ้นที่เหมาะสมเอง
20. ยิ่งโลภยิ่งจน
21. "กล้าเมื่อคนส่วนใหญ่กลัว และกลัวเมื่อคนส่วนใหญ่กล้า" พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะคำว่า "ส่วนใหญ่" นั้นวัดยาก
22. อิสระทางเวลามีค่ามากกว่าอิสระทางการเงิน
23. เซียนหุ้นทุกคนล้วนแต่เคยผิดพลาด และทุกวันนี้ก็ยังทำผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ
24. วิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน กล้าทุ่มเงินซื้อเมื่อพบโอกาส เมื่อซื้อแล้วให้ระแวงและทบทวนเสมอ
25. เจ้ามือที่แท้จริงคือ "ผลประกอบการ" (เครดิต พี่โจ ลูกอิสาน)
26. ราคาเป้าหมายต้องหาให้เป็น แต่อย่ายึดติดตัวเลข ถ้าหุ้นขึ้นมาเร็วใกล้เป้าหมายแล้วหมดแรง ต้องขายให้เป็น ในตลาดมีหุ้นอีกมากมายที่ราคายังห่างไกลเป้าหมายมากกว่า
27. ไม่ต้องพยายามซื้อที่จุดต่ำสุด ขายที่จุดสูงสุด พอใจในกำไรหรือขาดทุนที่ได้จากการทำตามแผนเสมอ
28. เมื่อพบหุ้นที่มีพื้นฐานดี upside เยอะ เคาะขวาทันที ไม่ต้องรอเกี่ยงราคาไม่กี่ช่อง
29. อย่าถือหุ้นจำนวนหลายตัวจน มากเกินไปจนไม่สามารถดู วิเคราะห์ และติดตามธุรกิจ ได้ครบทุกบริษัท
30. หลีกเลี่ยงลงทุนในหุ้นพิมพ์นิยมที่ใครๆก็พูดถึง ใครๆก็มีกัน 

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กรประเมินมูลค่าบริษัทประกันชีวิต ตอนที่ 3


เป็นที่เข้าใจตรงกันในบรรดานักลงทุนหรือนักวิเคราะห์ว่าการประเมินมูลค่าของบริษัทหรือมูลค่าหุ้นให้ตรงตามหลักวิชาการนั้นคือการใช้ DCF model แต่หลังจากที่เขาเหล่านั้นมีความเข้าใจในการคำนวณแบบ DCF เซียนหุ้นหลายๆท่านก็เลือกที่จะใช้ค่าพีอีในการประเมินมูลค่าหุ้นมากกว่า เพราะ DCF นั้นคำนวณยากและมีสมมุติฐานมากมายที่ต้องใช้ ซึ่งสมมติฐานเหล่านี้เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้มูลค่าหุ้นที่คำนวณมาได้แตกต่างกันมาก คนสองคนไม่มีทางที่จะประเมินออกมาได้ค่าเท่ากัน แต่ถึงอย่างไรความเข้าใจใน DCF ก็ช่วยให้เราสามารถประมาณการณ์พีอีที่เหมาะสมในแต่ละธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น เช่นธุรกิจที่มีกำไรสม่ำเสมอคาดการณ์ได้ก็ควรจะมีพีอีที่สูงกว่าธุรกิจที่คาดการณ์ยาก หรือไม่สม่ำเสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินมูลค่าของบริษัทประกันชีวิตเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับพวกเรานักลงทุน ยิ่งกำไรที่ผันผวนด้วยแล้วทำให้การใช้ พีอีเรโชว์ ดูเป็นเรื่องไม่ค่อยเข้าท่า และหากจะประเมินโดยหลักคณิตศาสตร์ คือประเมินจาก EV VNB ยิ่งเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะค่า EV VNB นั้นตัวแปรเยอะยิ่งกว่า DCF ของธุรกิจทั่วไป และหากเราไปอ้างอิงจากการประเมิน EV ที่บริษัทประกาศออกมาโดยไม่มีความเข้าใจวิธีการคำนวณและสมมติฐานอย่างถ่องแท้ จะยิ่งเป็นอันตรายในการลงทุน ที่ผ่านมา BLA เคยเปลี่ยนบริษัทที่มาประเมิน ทำให้ค่า EV ในปีเดียวกันนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้นตัวเลข EV ที่ประกาศออกมานั้นสามารถปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงได้ตามใจผู้บริหารด้วยการให้สมมติฐานที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราไม่ควรยึดติดกับค่า EV VNB ที่ประกาศมากจนเกินไป แค่ใช้ดูคร่าวๆก็พอได้

วิธีการหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นวิธีที่ง่าย เข้าใจได้ โอกาสผิดพลาดค่อนข้างน้อยในการดูความถูกแพงของหุ้น แต่อาจจะไม่ตรงตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ไม่ตรงตามหลักวิชาการ แต่อาจจะเหมาะกับนักลงทุนอย่างเราๆ นั่นก็คือ SKM (ขำๆนะครับ ย่อมาจาก Skyforever's Valuation Method 555) วิธีนี้ก็คือการใช้พีอีนั่นเอง แต่ก่อนจะใช้พีอี จะต้อง normalize ตัวกำไรก่อน ซึ่งผมมีหลักคิดง่ายๆอย่างนี้นะครับสำหรับ BLA
1. โดยเฉลี่ย BLA มีผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 5%
2. กรมธรรม์ของ BLA ที่จำหน่ายออกไปแล้วและยังไม่หมดอายุส่วนใหญ่เป็นแบบออมทรัพย์ที่มีทั้งให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือกรมธรรม์ 3.xx% และ 2.xx% และส่วนน้อยที่เน้นความคุ้มครองซึ่งค่าเคลมคงประมาณ 1.xx% และเมื่อพิจารณาถึงค่าคอม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ผมประมาณว่าต้นทุนทางการเงินคงจะประมาณ 3.0% (best case 2.5% , worst case 3.5%)
3. เงินลงทุนของ BLA จากงบไตรมาส 1 อยู่ที่ประมาณ 1.86 แสนล้านบาท
4. หนี้สินของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.73 แสนล้านบาท

กรณีปกติ
กำไรต่อปีของ BLA โดยเฉลี่ย = (186,000 x 5%) - (173,000 x 3%) = 4,110 ล้านบาท
กรณี Best case
กำไรต่อปีของ BLA โดยเฉลี่ย = (186,000 x 5%) - (173,000 x 2.5%) = 4,975 ล้านบาท
กรณี Worst case
กำไรต่อปีของ BLA โดยเฉลี่ย = (186,000 x 5%) - (173,000 x 3.5%) = 3,245 ล้านบาท

หลังจากได้ตัวเลขกำไรต่อปีมาแล้ว เราอยากจะให้พีอีเท่าไรก็เอาไปคูณตัวเลขกำไรเลย จะได้ตัวเลข market cap ที่เหมาะสม จะให้พีอี 15 เท่า หรือ 20 เท่า หรือ 25 เท่า ก็แล้วแต่เลยครับ

ให้ดูเป็นไอเดียประกอบการตัดสินใจลงทุนนะครับ ถ้ารู้สึกว่าสมมติฐานไหนไม่เหมาะสมก็ปรับเปลี่ยนตัวเลขได้ตามใจเลยครับ ^^

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แจ้งกำหนดการออกรายการวีไอสายดำ moneytalk และเจาะแก่นวีไอ

ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสเป็นแขกรับเชิญไปให้สัมภาษณ์ และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับชีวิตการลงทุน และธุรกิจประกันชีวิตออกรายการ 3 รายการ คือ รายการวีไอสายดำ รายการ moneytalk และ รายการเจาะแก่นวีไอ ผมจึงถือโอกาสมาแชร์ไว้นะครับ

รายการวีไอสายดำออกอากาศไปแล้ววันที่ 30 มิถุนายน เวลา 17.30-18.00 น. ซึ่งสามารถหาดูย้อนหลังได้ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้นะครับ

http://m.youtube.com/#/watch?v=v1cDxL7DRA8&desktop_uri=%2Fwatch%3Fv%3Dv1cDxL7DRA8

http://www.bangkokbiznews.com/kttv/vdo/514526/

ส่วน money talk จะออกอากาศทาง tnn2 เวลา 22.30 น. วันที่ 3 กรกฎาคม และจะออกอากาศซ้ำอีกครั้งในเวลา 8.30 วันถัดไป ซึ่งผมจะนำลิงค์ดูย้อนหลังมาลงไว้หลังจากผ่านเวลาออกอากาศไปแล้วนะครับ
ส่วน เจาะแก่นวีไอนั้น คาดว่าจะออกอากาศได้ประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกรกฎาคมนี้นะครับ แล้วผมจะเข้ามาอัพเดทอีกครั้งครับ

ผมหวังว่าบทเรียนที่ผมเคยได้รับมาจะเป็นประโยชน์กับทุกๆท่านที่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ หรือดูรายการสัมภาษณ์ผม และจะทำให้ทุกๆท่านได้ก้าวเดินไปในโลกของการออมการลงทุนอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกๆ เหมือนการติดกระดุม หากคิดผิดตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดต่อๆไปก็จะผิดตามๆกัน เราจึงควรระมัดระวังและติดกระดุมให้ถูกตั้งแต่แรก

วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

หนังสือเล่มแรกของผม

คลอดจนได้กับเวลา 2 ปีกว่าๆในการเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิต

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เจาะลึกในการวิเคราะห์หุ้น แต่เป็นการเล่าเรื่องราวชีวิตของผมเอง เพื่อสอดแทรกบอกถึงวิธีที่คนจนๆ คนทำงานกินเงินเดือนน้อยๆ คนธรรมดาๆทั่วไป สามารถที่จะเก็บออมเงินและนำไปลงทุนในรูปแบบต่างๆให้มีเงินล้านขึ้นมาได้

เงินล้านนั้นสำหรับหลายๆคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นจำนวนที่เล็กน้อยมาก หาได้ง่ายๆ แต่กับอีกหลายๆคนในโลกนี้ ในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ยาก และเป็นไปไม่ได้เลยในความคิดของเขา ผมเข้าใจความรู้สึกนี้ดีเพราะในอดีตผมก็เคยคิดว่าเงินล้านเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับผม

สิ่งที่ยากที่สุดสิ่งแรกคือ ทำอย่างไรเราจึงจะมีความเชื่อ มีความศรัทธาว่าเราสามารถมีเงินล้านได้จริง ซึ่งผมหวังว่าหนังสือที่ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตจริงของผมเล่มนี้จะมีส่วนช่วยเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อของบางคนให้กลับมามุ่งมั่นและประสบความสำเร็จในชีวิตได้

ตอนนี้หนังสือน่าจะอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์และจัดส่งไปตามแผงหนังสือต่างๆทั่วประเทศนะครับ อาจจะต้องรออีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถหาซื้อได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ
http://www.thinkbeyondbook.com/node/867

รูปภาพ : ช่วยกันอุดหนุนด้วยนะครับ วางแผงตามร้านหนังสือทั่วไปรวมทั้งซีเอ็ดเร็วๆนี้ (^_^)

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

ผู้ชนะในตลาดหุ้น


               ช่วงนี้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2555 ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นถึง 36% คือเพิ่มขึ้นจาก 1025.32 จุดในสิ้นปี 2554 มาเป็น 1391.93 จุดในสิ้นปี 2555 และในเดือนมกราคม 2556 เพียงเดือนเดียวนี้ดัชนีก็ปรับขึ้นมาประมาณ 100 จุดหรือประมาณ 7% แล้ว

                การที่ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นมามากในเวลาอันรวดเร็วแบบนี้ทำให้มีคนจำนวนมากที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อนเริ่มสนใจ และสมัครเปิดบัญชีเพื่อเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นเพราะเห็นว่าหาเงินง่าย ลงทุนตัวไหนก็มีกำไรเกือบทั้งนั้น หลายๆคนซื้อหุ้นโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทที่เขาเข้าไปซื้อหุ้นนั้นมีชื่อจริงว่าอะไร ในช่วงเวลาเช่นนี้มีเซียนใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย คนที่เพิ่งเข้ามาเล่นหุ้นเพียงไม่กี่เดือนหรือแค่ปีสองปีจำนวนมากมีความมั่นใจในตัวเองและมองว่าแนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่ต้องลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานดีและราคายังไม่แพงนั้นเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว พวกเขาเฝ้ามองจอหุ้นทุกวันเพื่อมองหาหุ้นที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในเวลาที่รวดเร็วและเข้าไปร่วมวงด้วย ในภาวะเช่นนี้นักลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีแต่ราคาไม่หวือหวาจำนวนมากเริ่มเกิดความลังเล และฟุ้งซ่าน พวกเขาถูกทดสอบด้วยความโลภและกิเลสของตัวเอง และบางครั้งอาจจะเผลอใจเข้าไปร่วมวงซื้อหุ้นตามกระแส ซึ่งในช่วงเวลาแบบนี้หุ้นตามกระแสย่อมสร้างผลกำไรให้จำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อลองซื้อครั้งหนึ่งแล้วพบว่ามีกำไรดีก็อาจจะทำให้ติดใจและมีครั้งที่สองครั้งที่สามต่อไป
             
               การที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าเข้าไปเล่นเก็งกำไรแล้วได้กำไรนั้นดูผิวเผินแล้วน่าจะเป็นเรื่องดีเพราะมีกำไร ไม่ได้ขาดทุน แต่ในระยะยาวแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้นนอกจากต้องมีความรู้แล้วยังต้องสั่งสมประสบการณ์ในแนวทางที่ถูกต้อง มีวินัยในการลงทุนในแนวทางที่ถูกต้องอยู่เสมอ การที่เขาเหล่านั้นมีประสบการณ์ในการเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรแล้วได้กำไรหลายๆครั้งเข้าจะทำให้เขาเรียนรู้และสั่งสมแนวคิดที่ไม่ถูกต้องเข้ามาโดยไม่รู้ตัว และในที่สุดเขาจะไม่สามารถทำตามแนวทางของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าได้จนถึงที่สุด จงจำไว้ว่เมื่อเราทำผิด การโดนลงโทษย่อมดีกว่าการได้รับรางวัล เพราะบทลงโทษจะทำให้เราเรียนรู้ปรับปรุง แต่รางวัลจะทำให้เราหลงผิดไป

               การเก็งกำไรนั้นถึงแม้ว่าจะทำให้ร่ำรวยได้ แต่ก็เป็นระยะเวลาสั้นๆ เราอาจจะร่ำรวยขึ้นได้ภายในไม่กี่วัน ในขณะเดียวกันการเก็งกำไรก็ทำให้คนที่ร่ำรวยแล้วหมดตัวได้ภายในไม่กี่วันเช่นกัน มีนักเก็งกำไรระดับโลกหลายคนที่ในช่วงชีวิตหนึ่งนั้นร่ำรวยขึ้นมาและกลับไปหมดตัวอยู่หลายรอบ จนถึงบั้นปลายชีวิตก็หมดตัวอีกครั้งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ และตลอดชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความเครียดและความทุกข์ ในช่วงนี้การเก็งกำไรอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นผู้ชนะในตลาดหุ้น แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นชัยชนะที่ไม่ยั่งยืน ต่างกับแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่อาจจะไม่ร่ำรวยเร็วมาก แต่ก็จะมั่นใจได้แน่นอนว่าในหลายๆปีข้างหน้าจะร่ำรวยอย่างมั่นคงแน่นอน ในบั้นปลายชีวิตนักลงทุนนั้นเราสามารถมั่นใจได้ว่าเราจะเป็นผู้ชนะ ดังนั้นหากเราเลือกที่จะลงทุนตามแนวปัจจัยพื้นฐานให้ประสบความสำเร็จแล้ว เราก็จำเป็นต้องมีความอดทน และรู้จักควบคุมจิตใจตนเองไม่ให้หลงไปกับราคาหุ้นที่ขึ้นลงหวือหวาล่อตาล่อใจของเรา เรื่องความรู้และแนวทางการลงทุนนั้นซื้อหนังสือมาศึกษาหาอ่านได้ไม่ยาก แต่การฝึกฝนจิตใจของเราให้เข้มแข็งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์

               สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จในระดับโลกมีเหมือนๆกันคือ เขาเหล่านั้นอยู่เหนืออารมณ์ของตลาด และอาศัยอารมณ์ของตลาดเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ การคาดการณ์ตลาดว่าจะขึ้นหรือจะลง หรือวิจารณ์ว่าตลาดสูงไปแล้วหรือต่ำไปแล้วไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนที่ฉลาดเลือกทำ ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ ไม่มีใครคาดการณ์ได้แม่นยำจริงแม้กระทั่งนักลงทุนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก หากเรามองไปรอบตัวแล้วว่าธุรกิจหรือบริษัทที่เราลงทุนอยู่นั้นยังดำเนินกิจการไปได้ดีอยู่ก็จงลงทุนต่อไป อย่าได้หวั่นไหวกับสภาวะตลาด ในทางตรงกันข้ามหากธุรกิจเหล่านั้นไม่น่าประทับใจ ก็จงอย่าได้ลงทุนกับบริษัทนั้นต่อไป จงพิจาณาถึงตัวกิจการ อย่าได้ตัดสินด้วยราคาหุ้น หรือสภาวะตลาดหุ้น